ท่ามกลางความขัดแย้งกันระหว่างฝั่งโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็นที่มีโอกาสปะทุได้ทุกเมื่อทุกเวลา ญี่ปุ่นในฐานะประเทศฝั่งโลกเสรีที่มีเพียงกองทัพสหรัฐฯและกองทัพป้องกันตัวเองคอยคุ้มครองอธิปไตยของชาติ แต่ตำแหน่งที่ตั้งของญี่ปุ่นกลับรอบล้อมไปด้วยภัยอันตรายจากเพื่อนบ้านไม่ว่าจะทั้งเกาหลีเหนือ, จีน และสหภาพโซเวียต
การคงความสามารถในการผลิตอาวุธใช้เองจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับญี่ปุ่น และนั่นคือต้นกำเนิด Howa Type 64 ปืนแบบแรกที่ออกแบบโดยญี่ปุ่นและผลิตในญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
Howa Type 64 ( ญี่ปุ่น : 64式自動小銃 ; Roku-yon-shiki-jidou-shoujuu ; โรคุ-ยอน-ชิกิ-จิโดว-โชวจูว ) คือปืน Battle rifle สัญชาติญี่ปุ่น ผลิตโดยบริษัท HOWA Machinery Company เข้าประจำการในกองกำลังป้องกันตัวเองญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1964
โดยในปัจจุบัน Howa Type 64 ถือเป็นหนึ่งในปืนที่หาดูยาก ถึงแม้ว่าจะมีการผลิตออกมามากเป็นแสนกระบอก เนื่องจาก Type 64 มีผู้ใช้งานอยู่เพียงประเทศเดียวคือญี่ปุ่นเอง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายห้ามส่งออกอาวุธขายต่างประเทศของญี่ปุ่น
Type 64 จำนวนกว่า 230,000 กระบอกถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1964 จนถึง ค.ศ.1988 ซึ่งต่อมา Type 64 ถูกแทนด้วย Type 89 ที่ใหม่กว่าแทน
**หมายเหตุ : ภาษาไทยไม่มีการบรรยัดศัพท์ที่ไว้ใช้เรียกปืนประเภท Battle rifle จึงเรียกปืนประเภทไรเฟิลรวมกันว่า ปลย. ( ปืนเล็กยาว ) ทั้งหมด**
ประวัติ
ประวัติความเป็นมาของ Howa Type 64 นั้นมาจากกองกำลังป้องกันตัวเองญี่ปุ่น ( JSDF ) ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้มาดๆในช่วงเวลานั้น ( JSDF ก่อตั้งในปี ค.ศ.1950 ) มีความต้องการปืนประจำกายแบบใหม่เพื่อปรับปรุงปฏิรูปกองทัพให้มีทันสมัยเท่าเทียมกับชาติพันธมิตรโลกเสรีที่ในช่วงนั้นมีการประจำการปืนแบบ ฺBattle rifle กันแพร่หลาย เช่น M14 ของสหรัฐฯ, ชาติกลุ่มนาโต้ประจำการ FN FAL หรือประเทศในเครือจักรภพอังกฤษที่ประจำการปืน L1A1 SLR ซึ่งมีแบบมาจาก FN FAL ของเบลเยี่ยมอีกที รวมถึง Sturmgewehr 57 ของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
ในขณะนั้น JSDF ใช้งานปืนเล็กยาวแบบ M1 Garand ที่ได้รับมาจากโครงการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯเป็นหลัก โดยทางญี่ปุ่นได้ทำการวิเคราะห์ภัยคุกคามรอบบ้านอย่าง เกาหลีเหนือ, จีน, และสหภาพโซเวียต ที่ใช้งานปืนไรเฟิลจู่โจมตระกูล AK-47 เป็นหลัก เมื่อทำการวิเคราะห์การสู้รบแล้วนั้นพบว่าทหารญี่ปุ่นเสียเปรียบในสนามรบเป็นอย่างมาก ด้วยความห่างทางเทคโนโลยีของอาวุธประจำกาย ด้วยเหตุนี้ทำให้ความต้องการปืนประจำกายแบบใหม่ให้ทหารญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้น
ญี่ปุ่นเลือกที่จะพัฒนาอาวุธปืนขึ้นมาเองแทนการจัดหาจากต่างประเทศเพื่อคงความสามารถในการผลิตอาวุธใช้เองในประเทศ หลังจากที่ขีดความสามารถในการผลิตอาวุธใช้เองของญี่ปุ่นโดนลดความสามารถไปมากหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ญี่ปุ่นได้เลือกวิจัย Battle rifle ขึ้นมาตามชาติพันธมิตรโลกเสรีที่ใช้ Battle rifle อย่างแพร่หลายในช่วงนั้น ( ซึ่งเป็นแบบปืนที่ใหม่มากในสมัยนั้น )
โดยโครงการปืนประจำกายใหม่ญี่ปุ่นโครงการนี้ได้เริ่มวิจัยในปี ค.ศ.1957 ซึ่งเป็นเวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้นนับจากการก่อตั้ง JSDF โดยมี นายพล Kenzo Iwashita เป็นหัวหน้าโครงการและมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วยตัวเอง
**หมายเหตุ : ปืนไรเฟิลจู่โจมหรือ Assualt rifle ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในโลกเสรีในช่วงเวลานั้น**
การพัฒนา
ในช่วงการพัฒนานั้น มีการทดสอบระบบปฏิบัติการหลายแบบด้วยกันเพื่อหาระบบที่ดีที่สุด ซึ่งข้อมูลในระหว่างการพัฒนานั้นมีน้อยมาก เนื่องจากเอกสารโครงการนี้ บางส่วนในปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะโดยเฉพาะข้อมูลในช่วงการพัฒนา
ตามที่มีการเปิดเผย พบว่ามีตัวต้นแบบที่มีข้อมูลอยู่ 4 แบบคือ R1, R2, R3 และ R6 ซึ่งแต่ละแบบจะมีการนำระบบจากปืน Battle rifle ชาติอื่นมาทำเพื่อการทดสอบระบบ โดยมีข้อมูลดังนี้
R1 คือตัวต้นแบบที่มีแบบมาจาก FN FAL ของเบลเยี่ยม
R2 คือตัวต้นแบบที่มีแบบมาจาก AR-10 ของสหรัฐฯ
R3 คือตัวต้นแบบที่มีแบบมาจาก SVT-40 ของสหภาพโซเวียต
R6 คือตัวต้นแบบที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Type 64 ซึ่งได้มีการพัฒนาต่อไปอีก
R6A - ตัวต้นแบบแรกของ Type 64
R6K - ตัวต้นแบบสุดท้ายของ Type 64
หลังจากการพัฒนาและการทดสอบตัวต้นแบบที่ใช้ระบบปฏิบัติการหลายแบบที่มีอยู่ในเวลานั้น สุดท้ายตัว R6 ที่ใช้ระบบแก๊ส short storke, tilting bolt ก็ได้รับการเลือกให้ใช้กับตัวปืน ซึ่งได้มีการพัฒนาต่อไปอีกจากตัว R6A จนถึง R6K โดยระบบและคุณสมบัติหลายอย่างของ R6 นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจาก FN FAL, SVT-40 จากตัวต้นแบบ R1 กับ R3 มาผสมรวมกันซึ่งหลังจากการผ่านการทดสอบอย่างหลายจนกลายเป็นตัว R6K
กองกำลังป้องกันตัวเองญี่ปุ่น ( JSDF ) ก็ได้เลือกให้ R6K เข้าประจำการในชื่อว่า Type 64 ในปี ค.ศ.1964 ซึ่งเป็นที่มาของเลข 64 ของปืนนั่นเอง
นอกจากระบบหลายอย่างจะได้แรงบันดาลมาจาก FN FAL, SVT-40 แล้ว ตัวแม็กกาซีนของ Howa Type 64 นั้นลอกแบบมาจาก M14 ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแม็กกาซีนที่บรรจุกระสุนได้ 20 นัด
ปืนถูกล็อคอัตตราการยิงไว้ที่ 500 นัด/นาที ( ถือว่าช้า ) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถคุมปืนตอนยิง full auto ได้ดีขึ้น
ผลจากการทดสอบคู่กับ M14 ของสหรัฐฯพบว่า Type 64 นั้นเหนือกว่า M14 ในทุกๆด้าน อย่างเช่นในเรื่อง ergonomic, การคุมปืนระหว่างการยิง Full auto แต่ที่ทำได้ดีที่สุดคือความแม่นยำของกลุ่มกระสุนที่เหนือกว่า M14
รูปจากช่วงการพัฒนา R6K
กระสุน
Howa Type 64 ใช้กระสุนขนาด 7.62x51 มม. NATO แบบ M80 ตามชาติพันธมิตรโลกเสรีที่ใช้เป็นกระสุนมาตรฐานในเวลานั้น แต่ตัวกระสุน M80 ที่ใช้ใน Howa Type 64 ของญี่ปุ่นนั้นมีการดัดแปลงลดสัดส่วนดินปืนในปลอกกระสุนให้น้อยกว่า M80 ตัวมาตรฐานนาโต้ประมาณ 10-20% รวมถึงการลดน้ำหนักหัวกระสุนอีกด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับกระสุน CETME 7.62 ของสเปน
ด้วยเหตุผลนี้ส่งผลให้ M80 ญี่ปุ่นนั้นมีความแรงน้อยกว่าตัวมาตรฐานนาโต้ แต่นั่นก็ทำให้แรงรีคอยลดลงส่งผลให้การคุมปืนระหว่างตอนยิงนั้นดีกว่าตัวมาตรฐานนาโต้เช่นกัน รวมถึงส่งผลต่อความเร็วกระสุนที่ออกจากปากกระบอกปืนอีกด้วย
M80 7.62x51 mm. NATO มาตรฐาน
น้ำหนักหัวกระสุน - 147 แกรน ( 9.5 กรัม )
ความเร็ว - 856 เมตร/วินาที
M80 7.62x51 mm. NATO ญี่ปุ่น
น้ำหนักหัวกระสุน - 139 แกรน ( 9 กรัม )
ความเร็ว - 715 เมตร/วินาที
**หมายเหตุ : น้ำหนักของดินปืนในตัวกระสุนที่ใช้ในทางทหารนั้นถือเป็นความลับ**
สาเหตุในการเลือกกระสุนที่แรงต่ำกว่ามาตรฐานนาโต้นั้นสืบเนื่องมาจาก 7.62x51 มม.แบบ M80 มาตรฐานนั้นมีแรงรีคอยที่สูงมากเกินไป ทำให้การคุมปืนการยิง full auto ประทับบ่านั้นไม่สามารถหวังผลความแม่นยำได้ รวมถึงเสรีระที่เล็กของคนเอเชียนั้นมีผลอย่างมากต่อการยิงกระสุน M80 มาตรฐานที่มีความแรงสูงซึ่งเหมาะกับคนชาติพันธุ์ที่ตัวใหญ่กว่าอย่างเช่นชาวยุโรปหรือแอฟริกามากกว่า
ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้การใช้กระสุน M80 ตัวมาตรฐานกับ Type 64 นั้นจะส่งผลให้ตัว receiver ของปืนแตก เนื่องจากโครงสร้างของปืนไม่สามารถรับแรงดันของ M80 ตัวมาตรฐานได้
คุณสมบัติเด่น
เนื่องด้วย Type 64 นั้นถูกสร้างมาเพื่อญี่ปุ่นเท่านั้น ทำให้ตัวอักษรบนปืนไม่มีภาษาอังกฤษ กลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นของปืนญี่ปุ่น โดยเฉพาะตัวคันควบคุมการยิงของปืนก็เป็นภาษาญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะกับ Type 64 เท่านั้น
คันควบคุมโหมดการยิงของ Type 64 นั้นเรียกว่า アタレ ( A - ta - re ; อา - ตา - เร ) ซึ่งถ้าให้แปลตรงตัวแบบญี่ปุ่นเลย คำว่า Atare ซึ่งเป็นการนำคำหน้าของโหมดการยิงทั้ง 3 โหมดมาเรียกรวมกัน
ア = アンゼン | An - zen | อัน - เซน | Safe ( โหมดเซฟ )
タ = タンパツ | Tan - pat - su | ทัน - ปัส - สึ | Semi ( กึ่งอัตโนมัติ )
レ = レンシャ | Ren - sha | เรน - ฉ่ะ | Full Auto ( อัตโนมัติ )
ซึ่งรายละเอียดที่เหลือของคันควบคุมการยิงภาษาญี่ปุ่น ผมทำบทความสั้นๆไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งท่านสามารถอ่านได้ที่ลิ้งนี้ : https://www.defnetofficial.com/forum/aawuthaelaethkhonolyii/khankhwbkhumkaaryingkh-ng-howa-type-89
คุณสมบัติที่เหลือนั้นจะเป็นคุณสมบัติที่เป็นมาตรฐานของปืน Battle rifle ในช่วงเวลานั้น เช่น
ขาทรายแบบ build-in ติดกับประกับปืน
ศูนย์เล็งพับได้
มีขีดความสามารถในการยิง Rifle grenade
มีขาจับติดดาบปลายปืน
ปัญหา
ในช่วงที่ยังคงเป็นปืนประจำกายหลักนั้น Type 64 นั้นมีปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงเนื่องจากกลไกและชิ้นส่วนของตัวปืนมีความซับซ้อนสูง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความน่าเชื่อถือของปืน
รวมถึงเรื่องลือที่ว่าตัวปืนนั้นมีปัญหาชิ้นส่วนหลุดร่วงเป็นประจำเวลาในสนามฝึก อันเป็นปัญหาจากตัวหมุดยึดปืนที่หลวมง่ายเกินไป ซึ่งต่อมาก็ได้มีการแก้ไขปัญหานี้โดยการใช้เทปกาวเหนียวพันรอบปืนในส่วนที่เป็นหมุดยึดปืน เป็นหนึ่งในคู่มือการใช้งานปืนที่แจกจ่ายให้กับบุคลากรในกองทัพ
Type 64 มีปัญหากับการยิงด้วยกล้องเล็งหรือสโคป เนื่องจากตำแหน่งการติดกล้องนั้นอยู่สูงเกินไปและตัวปืนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับรางยุคใหม่ ทำให้เมื่อทำการติดรางเสริม side mount กับปืนนั้น เมื่อทำการยิง ตัวรางกับกล้องบนรางเสริมจะสั่นตามแรงรีคอยปืนแต่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวปืน รางจะเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิมส่งผลให้ปืนมีอัตตราการยิงคลาดเคลื่อนสูง ซึ่งเป็นปัญหาแบบเดียวกับปืนตระกูล AK ที่มีการติดรางเสริม side mount
สถานะในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่า Type 64 จะถูกแทนที่ด้วย Type 89 แทนแล้ว แต่ก็ถูกแทนที่ในตำแหน่งปืนประจำกายหลักเท่านั้น
JGSDF ( Japan Ground Self-Defense Force ) ยังคงใช้ Type 64 ในฐานะปืนฝึกพลทหารใหม่และอยู่ในสถานะสำรองคลัง โดยยังคงมี Type 64 DMR รุ่นติดกล้องขยายใช้งานกับพลซุ่มยิงบางส่วน
JASDF ( Japan Air Self-Defense Force ) ใช้ Type 64 เป็นปืนประจำกายหลักใช้กับหน่วยเฝ้าระวังฐานบินและอากาศโยธิน ซึ่งเป็นปืนที่ได้รับการโอนย้ายมาจาก JGSDF บางส่วนได้รับการอัพเกรดติดราง side mount picatinny rail เพื่อติดกล้องเล็ง red dot
JCG ( Japan Coast Gurad ) หน่วยงานยามฝั่งญี่ปุ่นบางส่วนมี Type 64 ไว้ในประจำการควบคู่กับ Type 89 ซึ่งเป็นปืนที่ได้รับการโอนย้ายมาจาก JGSDF
SAT ( Special Assault Team ) หน่วยงานตำรวจติดอาวุธพิเศษของญี่ปุ่น มี Type 64 DMR รุ่นติดกล้องขยายใช้งานกับพลซุ่มยิง
Type 64 DMR ( Designated Marksman )
รุ่นพลแม่นปืน มีการติดกล้องเล็งขยาย 2.2x เท่า ( ส่วนใหญ่ ) แบบ M84 ให้กับพลแม่นปืน ซึ่งกล้องแบบ M84 นั้นบางส่วนถอดมาจาก M1C/D Garand Sniper ที่ปลดประจำการไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่นั้นเป็นกล้องเล็ง M84 ที่ผลิตใหม่โดยบริษัท Nikon รวมถึงการดัดแปลงเพิ่มที่รองแก้มตรงพานท้ายให้กับปืน
ปัจจุบัน Type 64 DMR ยังคงใช้งานในบางส่วนของ JGSDF แต่เริ่มทยอยปลดเข้าสำรองคลังแล้วถูกแทนที่ด้วย M24 จากสหรัฐฯ ทำให้ยังคงเหลือเพียงแค่ SAT ตำรวจพิเศษติดอาวุธของญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังคงมี Type 64 DMR ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
สงครามอิรัก
สงครามอิรักถือเป็นสงครามแรกและสงครามเดียวที่ Type 64 ถูกใช้งานในสนามรบจริง โดยเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตัวเองญี่ปุ่นที่มาอิรักในฐานะกองกำลังสนับสนุนแนวหลังและมนุษยธรรม Japanese Iraq Reconstruction and Support Group ตั้งแต่ปี ค.ศ.2004-2006 ซึ่งไม่ใช่กองกำลังรบโดยตรง
เจ้าหน้าที่บางส่วนใช้งาน Type 64 ควบคู่กับ Type 89 ซึ่งมีรายงานการยิงปะทะกับศัตรูอยู่ 1 ครั้งแต่ไม่มีรายงานจากทางการหรือหลักฐานมาสามารถมายืนยันเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจนมากนัก
ข้อมูล
ผลิตโดย : HOWA Machinery Company
ประเทศ : ญี่ปุ่น
ชนิด : Battle rifle
ประจำการ : ค.ศ.1964 - ปัจจุบัน
กระสุน : 7.62x51 mm. NATO
อัตราการยิง : 500 นัด/นาที
ระยะหวังผล : 400 เมตร
ความเร็ว : 715 เมตร/วินาที
ระบบปฎิบัติการ : short storke, gas operated, tilting bolt
แม็กกาซีน : 20 นัด
น้ำหนัก : 4.4 กิโลกรัม ( ตัวเปล่า )
ลำกล้อง : 17.7 นิ้ว
ยาว : 39 นิ้ว
จำนวนที่ผลิต : 230,000 กระบอก
สงคราม : สงครามอิรัก
#HOWA #64式自動小銃 #自衛隊 #Type64 #JSDF
เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้จัก Type 64 จากสื่อบันเทิงญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับทหารไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดคงจะเป็นอนิเมะเรื่อง GATE ที่เราเห็น จนท.กองกำลังป้องกันตัวเองญี่ปุ่นถือ Type 64 เป็นปืนประจำกายหลักยิงต่อสู้กับศัตรูต่างโลกแฟนตาซีล้มตายกันนับไม่ถ้วน
หวังว่าบทความนี้จะช่วยหลายคนที่ค้นคว้าข้อมูลอาวุธญี่ปุ่นไม่ได้มากก็น้อยครับ
นักรบกีนิว
16 / 4 / 2019
Type 64 ตัว Modernize ของอากาศโยธิน JASDF หล่อมากครับ
ปล. สงสัยเรื่องการพันเทปรอบ Type 64 มานานแล้ว อ่านบทความนี้แล้วกระจ่างเลย ขอบคุณสำหรับบทความมากครับ