top of page
รูปภาพนักเขียนDEFNET

Sukhoi S-70 “Okhotnik” นักล่าล่องหนแห่งกองทัพอากาศรัสเซีย

อัปเดตเมื่อ 28 เม.ย. 2562


สวัสดีครับ กระผมคุณหลวงจัญไรพิฆาตแห่งรัสเซียเจ้าเก่า วันนี้มีบทความแปลไทยมานำเสนอเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียมาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกครั้งหนึ่งนะครับ หลังจากการปรากฏตัวของ Okhotnik-B ก็ทำให้ผมเกิดความรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาในระดับหนึ่ง ไม่คิดมาก่อนเลยว่ารัสเซียเองก็มีแผนที่จะสร้างอากาศยานต่อสู้ไร้คนขับเช่นเดียวกับกองทัพสหรัฐฯ แถมยังเป็น "อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับแบบล่องหนขนาดใหญ่" ในฐานะเครื่องบินขับไล่ยุคที่หกด้วย เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอเชิญทุกท่านอ่านข้อมูลที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

**********


[ข้อมูลทั่วไป] บทบาท: อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ [Unmanned Combat Aerial Vehicle (UCAV)] สัญชาติ: รัสเซีย ผู้ผลิต: Sukhoi ปีที่บินครั้งแรก: 2019 ปีที่เปิดตัว: หลังปี 2020 สถานะ: อยู่ในระหว่างการพัฒนา ผู้ใช้งาน: กองทัพอากาศรัสเซีย จำนวนการผลิต: ต้นแบบ 1 ลำ ราคา: 1.6 พันล้านรูเบิล ผู้พัฒนา: Mikoyan Skat

Sukhoi S-70 "Okhotnik" [รัสเซีย: Сухой С-70 "Охотник” (Hunter, นักล่า)] หรือที่เรียกว่า Okhotnik-B คืออากาศยานต่อสู้ไร้คนขับแบบล่องหนขนาดใหญ่ หรือ Stealth Heavy Unmanned Combat Aerial Vehicle (UCAV) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Sukhoi เป็นโครงการเครื่องบินขับไล่รุ่นที่หกสัญชาติรัสเซีย โดรนรุ่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานของ Mikoyan Skat (Микоян Скат) รุ่นก่อนหน้า ซึ่งสร้างขึ้นโดย MiG และได้รวบรวมนำเทคโนโลยีบางอย่างของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ห้า Sukhoi Su-57 มาใช้งาน


[การออกแบบ] ภายนอกมีความคล้ายคลึงกับ Northrop Grumman X-47B ของกองทัพสหรัฐฯ ความสำคัญของโครงการนี้ในช่วงระหว่างการพัฒนาคือ ลดโอกาสในการถูกตรวจจับหรือเป็นที่ถูกสังเกต Sukhoi Okhotnik ถูกสร้างขึ้นตามรูปแบบอากาศยานปีกบิน (Flying Wing) โดยใช้วัสดุ Composite และเคลือบสารดูดซับการสะท้อนจากการแพร่คลื่นเรดาร์เพื่อลดการตรวจจับ (Radiation-Absorbent/Stealth) ตัวโดรนมีน้ำหนักราว 20 ตัน ความกว้างของปีกยาวประมาณ 65 ฟุต (19 เมตร) ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เดี่ยว AL-31F Turbofan แบบเดียวกับที่ใช้ในเครื่องบินตระกูล Sukhoi Su-27 หรืออาจดัดแปลงมาจาก AL-41F ซึ่งติดตั้งในเครื่องบินรบ Su-35S และ Su-57 รุ่นต้นแบบ แม้ว่าจะมีท่อเครื่องยนต์ไอพ่นที่ไม่ได้รับการซ่อนก็ตาม (เครื่องยนต์อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างการพัฒนา) ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ในขณะบรรทุกสัมภาระคือ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังมีคุณสมบัติการใช้ช่องรับอากาศเข้าแบบช่องเดี่ยวบนหลังเครื่องด้านหน้าอีกด้วย

Okhotnik มีชุดฐานล้อลงจอดสามขา ประกอบด้วยฐานล้อเดี่ยวด้านข้างสองฐาน และฐานล้อหน้าสองล้อซึ่งพบเห็นจากในภาพนี้ มีความใกล้ชิดตรงกันกับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าหลากหลายบทบาท แบบ Sukhoi Su-57 ของรัสเซียเป็นอย่างมาก


[การพัฒนา] Okhotnik ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2011 เมื่อ Sukhoi ได้รับเลือกจากกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอากาศยานลาดตระเวนไร้คนขับขนาดใหญ่สำหรับกองทัพ ในเอกสารได้กล่าวถึงลักษณะเอาไว้ว่าเป็นอากาศยานไร้คนขับรุ่นที่หก (Sixth Generation Unmanned Aerial Vehicle) โดย Okhotnik นั้นได้ถูกดำเนินการใน Novosibirsk Aviation Plant named after V.P. Chkalov ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Sukhoi การจำลองครั้งแรกสำหรับการทดสอบภาคพื้นถูกสร้างขึ้นในปี 2014


ต้นแบบของโดรนรุ่นนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปี 2017 เป็นภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของอากาศยานปีกบินบนโลกอินเตอร์เน็ต ในช่วงเวลานั้นมีรายงานว่าจะเริ่มทำการบินทดสอบในปี 2018 และจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศรัสเซียในปี 2020

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2018 Okhotnik ถูกทดสอบในเรื่องของการขนส่ง การวิ่งและการจอดครั้งแรกในโหมดอิสระที่รันเวย์ของ Novosibirsk Aviation Plant (หรือที่รู้จักในชื่อสนามบิน Yeltsovka) โดยที่ตัวโดรนสามารถทำความเร็วในการวิ่งบนทางราบได้สูงสุดถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในเดือนมกราคมปี 2019 ต้นแบบของ Su-57 ในการบินครั้งที่สาม (หมายเลข 053) ได้รับการทาสีลายพรางดิจิทัลแบบใหม่ พร้อมภาพเงาดิจิทัลของ Okhotnik ทั้งด้านบนและด้านล่างของตัวเครื่อง ต่อมา Su-57 ถูกใช้เป็นห้องปฏิบัติการบินสำหรับการทดสอบระบบวิทยุอิเล็กทรอนิกส์ออนบอร์ดของ Okhotnik หรือที่รู้จักกันในชื่อระบบ Avionics และมีความเป็นไปได้ถึงการวางแผนที่จะนำ Okhotnik ใช้ร่วมกับ Su-57 ในอนาคต


Okhotnik มีกำหนดการบินครั้งแรกในปี 2019 รวมถึงจะมีการนำเสนอเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการหลังปี 2020


[ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ] ศาสตราจารย์ Vadim Kozyulin จากสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์การทหารของรัสเซีย ได้ให้สัมภาษณ์กับ Russia Beyond ดังนี้


“ช่องเก็บอาวุธของ Okhotnik ประกอบไปด้วยมิสไซล์จากอากาศสู่ภาคพื้นดินและระเบิดจำนวนมาก (โดยระบบนำวิถีและผู้ควบคุม) ที่ไม่ได้ติดตั้งไว้ใต้ปีกทั้งสองข้าง แต่จะถูกซ่อนเอาไว้ภายในเพื่อลดการถูกตรวจจับจากศัตรู”


ซึ่งในที่นี้อาจรวมไปถึง OFZAB-500 ระเบิดที่มีสะเก็ดกระจายตัวแรงสูง และ ODAB-500PMV ระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ ซึ่งเคยถูกใช้ระหว่างการหาเสียงในประเทศซีเรีย

“นี่ไม่ใช่เพียงโดรนโจมตีตัวแรกที่สร้างขึ้นในรัสเซีย แต่ถือเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการทดสอบเทคโนโลยีเครื่องบินขับไล่รุ่นที่หก ผมต้องการย้ำว่าข้อมูลจำเพาะยังคงอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย แต่คุณสมบัติหลักซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั้นคือระบบแบบ Fully robotized systems”

ในทัศนะคติของกองทัพรัสเซีย Fully robotized หมายถึงไม่มีนักบินประจำการ และมีความสามารถตัดสินใจในการต่อสู้แบบอิสระตั้งแต่ต้นจนจบ Kozyulin ยังกล่าวเสริมว่า “เครื่องจักรนั้นพร้อมที่จะทำการรบอย่างเต็มรูปแบบ ยกเว้นการปรับใช้อาวุธในระหว่างต่อสู้ ฟังก์ชั่นดังกล่าวนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติงาน”

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่า “มีความเป็นไปได้ที่ Okhotnik จะถูกออกแบบมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง ซึ่งคล้ายคลึงกับภารกิจที่กำหนดไว้สำหรับ UAV ของสหรัฐฯ ในเรื่องการทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศของข้าศึก, การสื่อสาร, คำสั่งและการควบคุมสถานการณ์ หากการใช้เครื่องบินขับไล่มีความเสี่ยงที่สำคัญต่อนักบิน”

**********


ข้อมูลจำเพาะของ Sukhoi S-70 "Okhotnik"

[ลักษณะทั่วไป] นักบิน: 0 (ไม่มีนักบินประจำเครื่อง) ความกว้างของปีก: 19 เมตร ความยาว: 14 เมตร น้ำหนักเปล่า: 20,000 กิโลกรัม (44,092 ปอนด์) เครื่องยนต์: 1 × Saturn AL-31F หรือ AL-41F, 123–147 kN (28,000 – 33,000 ปอนด์) พร้อมอุปกรณ์สันดาปตอนท้าย (Afterburner)

[ประสิทธิภาพ] ความเร็วสูงสุด: 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (621 mph; 540 kn) ระยะทำการ: 6,000 กิโลเมตร (3,728 mi; 3,240 nmi)

[อาวุธยุทธภัณฑ์] มีช่องเก็บภายในสำหรับอาวุธที่มีตัวนำวิถีและไม่มีตัวนำวิถี 2 ช่อง รับน้ำหนักได้สูงสุด 2,000 กิโลกรัม อาจติดตั้งระเบิดและอาวุธปล่อยนำวิถีรุ่นล่าสุดส่วนใหญ่ (หรืออาจจะไม่ใช่ทั้งหมด) ที่ได้รับการพัฒนาสำหรับเครื่องบินขับไล่ Sukhoi Su-57

อาวุธที่จะติดตั้งในโดรนอาจรวมไปถึงอาวุธปล่อยนำวิถีความเร็วเหนือเสียงที่สูงมาก (Hypersonic) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีการประกาศว่ากำลังอยู่ในการพัฒนา โดยมีสมรรถนะคล้ายกับอาวุธปล่อยนำวิถี Kh-47M2 Kinzhal

**********

เครื่องยนต์ Saturn AL-31FM

เครื่องยนต์ Saturn AL-117s

[ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้แปลบทความ]

ครั้งแรกที่ภาพนี้ปรากฏให้เห็นในโลกโซเชียล ก็ทำให้ผมเกิดอาการคลั่ง หลงใหลเจ้านักล่าลำนี้ไปโดยทันทีเลยครับ แม้ว่ารูปร่างของมันจะดูแปลกหากมองจากด้านบน แต่เมื่อมองดูรอบข้างในแนวราบ บอกได้คำเดียวว่าเท่มากครับ โดยเฉพาะตูดของมัน---(?)

ที่น่าสนใจคือ ทั้งที่มันเป็น อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับหรือ UCAV แต่กลับพ่วงคำว่า Stealth กับ Heavy มาด้วย แถมยังอยู่ในฐานะเครื่องบินขับไล่รุ่นที่หกอีกต่างหาก เท่าที่อ่านสรรพคุณแล้วหากเจ้านี่ไม่ใช่แค่สเปคที่อยู่บนกระดาษล่ะก็ ผมว่าน่าจะเป็นอาวุธอีกชิ้นหนึ่งที่มีความสามารถเทียบเท่า Northrop Grumman X-47B ของกองทัพสหรัฐฯได้เลย แถมยังเคลมว่าระบบของมันสามารถใช้ร่วมกับ Su-57 ได้ด้วยซึ่งต้องรอดูกันต่อไป

แต่ไอ้การที่วิ่งบนรันเวย์ด้วยความเร็วถึง 200 กม./ชม. และบินด้วยความเร็ว 1,000 กม./ชม. ในระดับความเร็วใกล้เสียง ทั้งที่มีขนาดน้ำหนัก 20 ตันนี่ถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียวครับ

ส่วนของเสียงที่พอจะมองออกได้ชัดเจนเลยคือ ไอพ่นท้ายเครื่องมันยื่นออกมาจนเด่นสะดุดตา ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาติรัสเซียรึเปล่า แต่การทำแบบนั้นมันทำให้ความสามารถในการหลบหลีกการตรวจจับด้วยนั้นลดน้อยลงได้ เพราะความร้อนที่ปล่อยออกมาจากท่อชัดเจน อย่างไรก็ดีภายในตัวเครื่องยังมีช่องเก็บอาวุธ กับขนาดที่แบนราบและการเคลือบสารดูดซับการสะท้อนจากการแพร่คลื่นเรดาร์ ก็พอถูไถเรื่องการซ่อนตัวได้บ้าง

เอาเถอะ ทำออกมาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าสุดยอดแล้วล่ะ ขอแค่อย่าไส้เลื่อนเหมือน Su-57 ก็พอ เพราะผมคาดหวังกับ Okhotnik ไว้สูงมากเลยทีเดียว

**********


แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะครับ #DEFNET #Russia

**********


แปล เขียนและเรียบเรียงโดย : คุณหลวงจัญไร

ดู 917 ครั้ง1 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

DTI มอบยานเกราะล้อยาง 8x8 VN-1 รุ่นบังคับการให้กองทัพบกไทย

#DEFNET_News DTI มอบยานเกราะล้อยาง 8x8 VN-1 รุ่นบังคับการให้กองทัพบกไทย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศทำพิธีส่งมอบยานเกราะล้อยางแบบ VN-1...

1 Comment


jab255780
Apr 24, 2019

สุดยอด รออ่านอยู่นะครับ

Like
bottom of page