top of page
รูปภาพนักเขียนDEFNET

50 ปี Huey กองทัพอากาศไทย

อัปเดตเมื่อ 23 ก.ย. 2564

#DEFNET #กองทัพอากาศ #UH1H #Huey

ในยามที่นักบินถูกยิงเครื่องบินจนต้องสละเครื่อง ก็จะมีอากาศยานแบบหนึ่งที่จะผ่าภัยอันตรายเข้าไปนำนักบินกลับบ้าน ซึ่งอากาศยานลำนี้ประจำการในกองทัพอากาศไทยมา 50 ปีแล้ว


UH-1 H IROQUOIS กองทัพอากาศ

ปี พ.ศ.2499 บริษัท Bell Heicopter ประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแบบและพัฒนา ฮ.รุ่นใหม่ออกมาคือ ฮ. Model 204  โดยได้มีการนำเครื่องยนต์ turboshaft แทนการใช้งานเครื่องยนต์ลูกสูบที่มีใช้งานในเฮลิคอปเตอร์รุ่นเก่าอย่าง H-34C/D ทำให้เฮลิคอปเตอร์มีขีดความสามารถได้มีสูงกว่าเฮลิคอปเตอร์แบบเก่า


Bell เปิดสายการผลิตเฮลิคอปเตอร์เพื่อส่งมอบให้กองทัพสหรัฐฯ และได้เริ่มนำมาใช้งานในเวียดนาม  ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี  ระหว่างนั้นได้มีการพัฒนาต่อมาจนเป็นรุ่น Model 205 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีขีดความสามารถสูงขึ้นมากและได้รับการสั่งซื้อจำนวนมากจากกองทัพสหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการรบในสงครามเวียดนาม โดยได้รับการกำหนดชื่อทางทหารว่า UH-1 D/H IROQUOIS หรือที่เรียกติดปากในทหารสหรัฐฯคือ "HUEY"


Sikorsky H-34 Chocktaw

เมื่อไทยเข้าสู่สงครามกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ.2508 กองทัพอากาศในตอนนั้นมีเฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๔ (ฮ.๔) Sikorsky H-34 Chocktaw ที่เป็นเครื่องที่ได้รับมอบจากในโครงการช่วยเหลือทางการทหารกองทัพสหรัฐ ซึ่งเครื่องผ่านการใช้งานจากสหรัฐฯมาก่อนแล้ว ถึงจะมีในประจำการจำนวนมาก แต่ด้วยขีดความสามารถและสภาพเครื่อง H-34C/D ที่มีข้อจำกัด จึงทำให้เกิดการสูญเสียหลายครั้งในจากการทำภารกิจ



ในที่สุด เฮลิคอปเตอร์ ฮิวอี้ ก็ถูกส่งมอบให้พันธมิตรในโครงการช่วยเหลือทางการทหาร โดยกองทัพบกไทยเป็นเหล่าแรกที่ได้รับ ฮิวอี้ เข้าประจำการในปี พ.ศ.2510 จำนวน 25 ลำ ต่อมากองทัพอากาศก็ได้รับมอบปี พ.ศ.2511 จำนวน 4 ลำ กำหนดชื่อในกองทัพอากาศว่า “ เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๖ “ หรือ ฮ.๖  เข้าประจำการใน ในฝูงบิน 32 กองบิน 3 นามเรียกขาน (Callsign) “Scorpion”


เมื่อได้รับ เฮลิตคอปเตอร์ชุดแรกมาถึงมือ ทางกองทัพอากาศก็เร่งทำการฝึกนักบิน โดยมีนักบิน ทบ.สหรัฐฯ เป็นครูการบินให้ และได้มีการนำฮิวอี้หนึ่งลำไปใช้งานภารกิจ "เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง" ถวาย พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบต ภูมิพลอดุลยเดชฯ ทดแทน ฮ.๔ เดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2512 จึงได้รับมอบ ฮิวอี้ ที่เหลืออีก 21 เครื่อง และได้ย้ายที่ตั้งจากเดิมที่ใช้สนามบินดอนเมืองที่เป็นฐานบินชั่วคราวของกองบิน 3 ไปยัง ฐานบินนครราชสีมา


เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง UH-1H กองทัพอากาศ

เมื่อนักบินไทยได้รับการฝึกจนพร้อมปฏิบัติภารกิจในระยะเวลาไม่กี่เดือน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2512 กองทัพอากาศได้มีการส่ง หน่วยบิน 321 เข้าปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง บริเวณพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดคือ พิษณุโลก, เพชรบูรณ์ และ เลย โดยมีฐานบินอยู่ที่สนามบินหล่มสัก โดยภารกิจหลักของหน่วยบินนี้คือการบินส่งกำลังบำรุง เสบียงอาหาร และ ยุทธปัจจัย นอกจากนี้ ยังทำการบินลำเลียงกำลังพลภาคพื้นที่จะต้องผลัดเปลี่ยนหน้าที่ และ ยังต้องส่งกลับผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตออกจากพื้นที่การรบด้วย 


ในการบินทำภารกิจ ฮิวอี้ ของกองทัพอากาศ มักถูกยิงจาก ผกค. ในช่วงขณะทำการบินขึ้นและลง เพื่อปฏิบัติภารกิจเสมอ แม้ฮิวอี้ทุกลำจะได้รับการติดตั้งอาวุธสำหรับป้องกันตนเองคือ ปืนกลแบบ M60D จำนวน 2 กระบอกก็ตาม บางครั้งก็ทำให้นักบินและเจ้าหน้าที่ก็ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต และเฮลิคอปเตอร์บางเครื่องต้องจำหน่ายประจำการเนื่องจากถูกยิงตกหรือเสียหายหนักเกินกว่าที่จะซ่อมได้


ในช่วงที่การรบกับ ผกค. นั้นเอง กองทัพอากาศได้มีแนวคิดที่จะเพิ่มศักยภาพในการรบให้กับ ฮิวอี้ เพื่อให้สามารถใช้เป็น เฮลิคอปเตอร์โจมตี โดยการทดลองนำอาวุธชนิดต่างๆมาติดตั้งและนำไปทดสอบทั้งในพื้นที่ทดสอบและบางครั้งจะนำไปทดสอบในพื้นที่การรบจริง  เช่นการดัดแปลงฮิวอี้ให้รองรับระเบิดขนาด 250 ปอนด์ แบบ Mk.81 หรือมีระเบิดสังหารพวงขนาด 20 ปอนด์ แต่ มีปัญหาเรื่องของความแม่นยำในการทิ้งระเบิด เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์มีใบพัดประธานอยู่ด้านบนของตัวเครื่อง เมื่อทำการทิ้งระเบิดแล้วแรงลมจากใบพัดประธานจะพัดระเบิดให้ออกไปตกในนอกเป้าหมายทำให้ไม่สามารถทำความเสียหายให้กับเป้าหมายได้ นอกจากนี้ เฮลิคอปเตอร์นั้นมีความเร็วต่ำเคลื่อนตัวเข้าและออกจากเป้าหมายได้ช้ากว่าเครื่องบินทำให้มีโอกาสถูกยิงได้ง่าย และ เสียงเฮลิคอปเตอร์ที่ดังทำให้ ผกค. รู้ตัวและสามารถคาดเดาทิศทางของเฮลิคอปเตอร์ได้



นอกจากระเบิดแล้วกองทัพอากาศยังได้เพิ่มอำนาจการยิงปืนให้กับฮิวอี้ โดยการนำปืนกลอากาศขนาด 12.7 มม. แบบ M3 ซึ่งเป็นปืนกลหนักที่มีอำนาจการทำลายสูงและมีระยะยิงไกลกว่าปืนกล M-60D มาติดตั้งแทนและมีการนำไปทดสอบในพื้นที่การรบในภาคเหนือช่วงปี พ.ศ.2523 โดยใช้ในภารกิจการโจมตีทางอากาศสนับสนุนกำลังของกองทัพบกที่ทำการรบในพื้นที่ อ. ทุ่งช้าง น่าน และ อ.เทิง เชียงราย  

แต่ด้วยขนาดกระสุนและกลไกของปืนกล M3 จึงทำให้เกิดแรงสะท้อนจากการยิงซึ่งทำให้เครื่องมีการเสียการควบคุมขณะการยิง ถึงจะไม่มากแต่อาจจะส่งผลต่อให้โครงสร้างลำตัวเกิดความเสียหายขึ้น สุดท้ายกองทัพอากาศก็ได้ยกเลิกทั้งการติดตั้งระเบิดและปืนกล M3 ไป


เดือนตุลาคม พ.ศ.2520 กองทัพอากาศได้มีการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพใหม่ มีผลทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ขึ้นและบางหน่วยงานเดิมบางหน่วยต้องยุบเลิกไป ซึ่ง กองบิน 3 ที่มีเฮลิคอปเตอร์ในอัตรานั้น ถูกยุบไป กองทัพอากาศจึงได้ย้ายเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมดมาบรรจุในกองบิน 2 โคกกะเทียม จ.ลพบุรี แทน โดยได้จัดตั้งฝูงบิน 201 เพื่อรองรับ H-34/UH-34 ที่ย้ายมาจาก ฝูง.31 และจัดตั้งฝูงบิน 203 เพื่อรองรับ ฮิวอี้ จากฝูง.32 


UH-1H ลายพรางสีเขียว เขียวเข้ม และน้ำตาล ใช้กันตั้งแต่ปี 2526

ปี พ.ศ.2526 รัฐบาลและกองทัพไทยได้ใช้การปฏิบัติการทั้งทางทหารและทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ ฝ่าย ผกค. ต้องสูญเสียที่มั่นและมวลชน จนสุดท้ายฝ่าย ผกค. ยอมมอบตัวเพื่อเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ แต่ภารกิจอื่นๆที่ต้องใช้ ฮิวอี้ สนับสนุนก็ยังมีอยู่โดยตลอด  ไม่ว่าจะเป็นภารกิจการค้นหาและช่วยชีวิตนักบินที่อากาศยานประสบอุบัติเหตุหรือถูกยิงตกในพื้นที่การรบ ภารกิจการลำเลียงทางอากาส่งกำลังบำรุงให้สถานีเรดาร์หรือสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ไม่มีสนามบิน หรือ ไม่มีถนนตัดขึ้นไปถึง ยกตัวอย่างที่ ภูกระดึง เป็นต้น และ นอกจากนี้ยังใช้ในภารกิจบรรเทาสาธารณภัยประสบภัยพิบัติต่างๆ ทั้งการลำเลียงอาหาร สิ่งของยังชีพต่างๆเข้าไปส่งให้กับผู้ที่ประสบภัย รวมทั้งการช่วยเหลือนำผู้เจ็บป่วยออกจากพื้นที่ที่ประสบภัยด้วย ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่งของกองทัพอากาศ


UH-1H ที่ได้รับการปรับปรุง และเปลี่ยนสีเป็นพลางเทา(ลำหน้า) และUH-1H ที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงที่เป็นลายพราง เขียว-น้ำตาล(ลำหลัง)

หลังจากผ่านการใช้งานมานานนับสิบๆปี ซึ่งตามกำหนดจะต้องปลดประจำการ ฮิวอี้ ทั้งหมดในปี พ.ศ.2546  แต่ด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะใช้จัดหา ฮ. แบบใหม่ ให้ได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ไม่น้อยกว่า 12 ลำ เพื่อให้สามารถกระจายกำลังไปประจำการตามกองบินต่างๆของกองทัพอากาศได้ ภารกิจติดตามขบวนเสด็จฯ และ ภารกิจอื่นๆอีกด้วย  ทำให้กองทัพอากาศมีความจำเป็นที่จะต้องยืดอายุใช้งาน ฮ.๖ ต่อไปอีกอย่างน้อย 12-15 ปี จึงได้มีการนำ ฮิวอี้ เข้ารับการปรับปรุงโครงสร้าง เครื่องยนต์ และระบบอวิโอนิกส์ โดยบริษัท ISRAEL AIRCRAFT INDRUSTRIES LIMITED หรือ IAI อิสราเอล ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2545 - 2547 นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังได้รับมอบ ฮิวอี้ จากกองทัพเรืออีกจำนวน 2 เครื่อง มาทำการปรับปรุงด้วย ซึ่ง ฮิวอี้ ที่ผ่านการปรับปรุงตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้วจะได้รับการเปลี่ยนสีพรางใหม่จากเดิมที่เป็นลายพรางสีเขียว เขียวเข้ม และน้ำตาล  ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นลายพรางโทนสีเทาแบบในปัจจุบัน


UH-1H (ลำใกล้) และ H225M (ลำไกล) ขณะทำการแสดงในภารกิจค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบ

หลังจากยืดอายุการใช้งานจนไม่สามารถจะไปต่อได้แล้ว ในที่สุดกองทัพอากาศก็ได้พิจารณาจัดหาเฮลิคอปเตอร์แบบใหม่นั้นคือ เฮลิคอปเตอร์แบบที่๑๑ (ฮ.๑๑) Airbus Helicopters EC725 เข้าประจำการทดแทน ในปี พ.ศ.2555 และมีการจัดหาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีการสั่งซื้อครบ 12 ลำแล้ว กำลังทยอยส่งมอบ ทำให้กองทัพอากาศยังคงประจำการ ฮิวอี้ เพื่อรอ EC725 ส่งมอบจนครบและพร้อมทำหน้าที่แทน จนปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 50 ของการประจำการแล้ว ซึ่งกองทัพอากาศได้มีการจัดงานครบรอบ 50 ปี เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๖ ที่กองบิน 2 โคกกระเทียม ลพบุรี เมื่อ 6 กันยายนที่ผ่านมา



 

ที่มา:


ดู 1,577 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

DEFNET Old Cam : Far and B&W

DEFNET Old Cam Far and B&W DEFNET Old Cam วันนี้มาแปลก อาจจะงงว่าทำไม ภาพที่ถ่ายมันเป็นขาวดำ ภาพแตกๆ ดูเหมือนภาพเก่าเลย...

Comments


bottom of page