หลังจากที่มีข่าวว่า กองทัพบกไทย จัดหายานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker Infantry Carrier Vehicle (ICV) จากคลังสำรองกองทัพบกสหรัฐฯ จำนวน 37 คันรวมกับ ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สนับสนุนเพิ่มอีก 23 คัน รวมทั้งหมด 60 คัน ลงในหน่วยกองพลทหารราบที่ 11 มูลค่าทั้งหมด 2,784 ล้านบาท หรือ 87.4 ล้านเหรียญ (ตกคันละประมาณ 75-80 ล้านบาทหรือ 2.3-2.5 ล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นการจัดหาแบบ Excess Defense Articles (EDA) กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และนี่คือประเด็นที่ทางเราจะนำเสนอ
- ซื้อแพงกว่าเจ้าอื่นๆ!!
เมื่อมีข่าวก็ต้องมีการเปรียบเทียบการจัดหาของประเทศอื่นและราคาที่ขาย นำไปสู่คำถาม และการคัดค้านว่า เราจัดหาเเพงกว่าราคาที่ขายประเทศอื่นถึงเท่าตัว
ประเด็นต้องบอกก่อนว่าราคาขายที่ไปหากันมาว่ามันแค่ 1.4-1.5 กว่าล้านเหรีญ คือราคาของปี พ.ศ. 2548 แต่ปีนี้คือปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันเกือบ 15 ปีแล้ว จากข้อมูล Program Acquisition Costs By Weapon System ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2555 ได้บันทึกราคาของยานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV (มือหนึ่ง) ผลิตโดยบริษัท Genral Dynamic Land Systems ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าอยู่ที่คันละ 4.9 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 156 ล้านบาท ซึ่งราคาประมาณนี้แทบจะสามารถซื้อรถถังหลักได้เลย หรือล่าสุดคือการเสนอขายให้กับกระทรวงกลาโหมมลิทัวเนีย เมื่อปี พ.ศ. 2558 จำนวน 84 คัน พร้อมด้วยอะไหล่ อุปกรณ์ต่างๆ มูลค่าโครงการ 462 ล้านเหรียญ ซึ่งตกคันละ 5.5 ล้านเหรียญ
กระทรวงกลาโหมไทย จัดหา ยานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV (มือสอง) มาในราคา 2.5 ล้านเหรียญ ต่อคัน แต่มีสื่อและบุคคลอื่นๆอ้างว่า กระทรวงกลาโหมไทยจัดหาแพงกว่าเจ้าอื่นถึง 2 เท่าโดยอ้างราคาขาย เมื่อปี พ.ศ. 2548 มาเทียบ ซึ่งในความเห็นของผมว่าควรจะด่านะ ถ้าโครงการจัดหาของกระทรวงกลาโหมลิทัวเนีย ในปี พ.ศ. 2558 ได้จัดหา ยานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV (มือหนึ่ง) ในราคา 1.5 ล้านเหรียญ ต่อคัน แต่ตอนนี้ผมว่าแปลกดีที่คนด่ากองทัพบกไทยว่าซื้อแพง โดยใช้ราคาเมื่อเกือบ 15 ปีที่แล้วมาอ้างอิง
เหตุผลที่ได้ราคาเท่านี้ เป็นเพราะ กระทรวงกลาโหมไทย จัดหายานเกราะที่อยู่ในคลังสำรองของ กองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งนำมาสำรองคลังไว้เนื่องจากการจัดอัตราและปรับโครงสร้างหน่วยใหม่ โดยตัวรถส่วนเกินที่สำรองคลังไว้ จะถูกนำมาทำการซ่อมคืนสภาพและปรับปรุงให้ทันสมัย (Refurbish & Modernize) ก่อนที่ส่งมอบให้กับ กองทัพบกไทย (ในส่วนรายละเอียดการปรับปรุงยังไม่มีเปิดเผย) ซึ่งได้ในราคาประมาณ 2.3-2.5 ล้านเหรียญ ต่อคัน ซึ่งมีราคาที่แพงกว่า ยานเกราะล้อยาง 2 แบบแรกที่ กองทัพบกไทยจัดหามาใช้งานก่อนหน้านี้ คือ ยานเกราะล้อยาง แบบ BTR-3E1 ของสำนักออกแบบ Kharkiv Morozov Machine Building Design Bureau (KMDB) ประเทศยูเครน ประจำการอยู่ในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และยานกเราะล้อยาง แบบ VN-1 ของบริษัท Norinco ประเทศจีน ที่จะประจำการในกรมทหารม้าที่ 2 กองพลทหารม้าที่ 1 ซึ่งราคาของยานเกราะล้อยางทั้ง 2 รุ่น ตกอยู่ไม่เกินคันละ 2 ล้านเหรียญ แต่แน่ละครับ งานผลิตในสหรัฐฯ ได้ราคาเท่านี้ ก็น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
- เจ้าแรกที่สหรัฐฯ ขายให้
จากประเด็นก่อนหน้า หลายคนงงว่า ทำไม กองทัพบกไทย ถึงเป็นเจ้าแรกที่จัดหายานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV หรือมีสื่อและบุคคลอื่นๆนำข้อมูลมาอ้างว่า กองทัพบกไทยไม่ใช่เจ้าแรกที่จัดหา แต่มีประเทศนั้น ประเทศนี้ ที่จัดหาไปแล้ว ถึงขั้นบอกว่า กองทัพบกไทย เป็นประเทศเดียวในโลก ที่ใช้งาน ยานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV เพราะกองทัพบกสหรัฐฯ เลิกใช้งาน และปลดประจำการ ไปแล้ว
ทุกวันนี้ กองทัพบกสหรัฐฯยังคงใช้งาน ยานเกราะล้อยาง แบบ IAV Stryker อยู่นะครับ แต่ด้วยการจัดอัตราและโครงสร้างหน่วยใหม่ ทำให้มียานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV ส่วนเกินออกมา กองทัพบกสหรัฐฯ จึงต้องนำไปสำรองคลังไว้ จนเป็นที่มาในการขายให้กับ กองทัพบกไทย ตามที่กล่าวไว้ในข้างบน ดังนั้น กองทัพบกไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่ใช้งานยานเกราะ แบบ M1126 Stryker ICV แน่นอน
ส่วน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็มีการเสนอขายยานเกราะล้อยาง แบบ IAV Stryker ให้กับกองทัพบกในหลายๆประเทศเช่นกัน แต่ก็ไม่มีกองทัพบกประเทศไหนที่เลือกจัดหาเลย ยกตัวอย่างเช่น
- กองทัพบกแคนนาดา โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสนอ ยานเกราะพิฆาตรถถัง แบบ M1128 Stryker Mobile Gun System (MGS) จำนวน 66 คัน เพื่อใช้ในภารกิจสนับสนุนทหารราบ แต่ต่อมา กระทรวงกลาโหมแคนาดา ได้ยกเลิกโครงการนี้ไป แล้วนำรถถังหลัก แบบ Leopard C2 (Leoprad 1A5 CAN) มาใช้ทำภารกิจแทน
- กองทัพบกอิสราเอล ซึ่งระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสนอยานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV ให้ แต่ในปี พ.ศ. 2551 กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ได้พัฒนา ยานเกราะสายพาน แบบ Namer มาใช้งาน และไม่มีการดำเนินจัดหากับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่อย่างใด
- กองทัพบกลิทัวเนีย ที่เลือกยานเกราะล้อยาง แบบ Vilkas IFV (ใช้พื้นฐานของยานเกราะล้อยาง แบบ Boxer IFV) ที่พัฒนาโดยบริษัท Artec GmbH ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ชนะโครงการ
ดังนั้นการจัดหายานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV ของ กองทัพบกไทย ที่เป็นการจัดหาจริงๆ ดังนั้น กองทัพบกไทย จึงเป็นกองทัพบกชาติแรกในโลกที่ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขายให้ครับ
- มากแบบไปหรือป่าว!!
แน่นอนว่าการมาของยานเกราะล้อยาง แบบ M1126 Stryker ICV เป็นการเพิ่มแบบของยานเกราะล้อยางของกองทัพบกไทย เป็น 3 แบบ จากเดิมที่มีประจำการอยู่ 2 แบบ ได้แก่ ยานกเราะล้อยาง แบบ BTR-3E1 และยานเกราะล้อยาง แบบ VN-1 ซึ่งค่อนข้างมากแบบพอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นความต้องการของ กองทัพบกไทย ที่ว่า ยานเกราะแบบไหนจะตอบโจทย์กับการใช้งานในพื้นที่ และแน่นอนว่ากองทัพบกไทย ก็ต้องวางแผนให้มีการจัดหาอะไหล่และการสนับสนุนต่างๆ มาด้วยกันอยู่แล้ว เรื่องนี้ทางเราก็คงให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่า กองทัพบกไทย ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือก แต่คำถามคือ มันมากแบบเกินไปหรือไม่??
- IAV Stryker มีทั้งหมดกี่รุ่น
ยานเกราะล้อยางตระกูล Stryker มีแบบ ได้แก่
1. ยานเกราะลำเลียง M1126 - Infantry Carrier Vehicle (ICV)
ใช้ในภารกิจสำหรับลำเลียงทหารราบเข้าสู่สนามรบ สามารถบรรทุกทหารราบ จำนวน 9 นาย
2. ยานเกราะลาดตระเวน M1127 - Reconnaissance Vehicle (RV)
ใช้ในภารกิจลาดตระเวนและและตรวจการณ์ มีการติดตั้งระบบที่ใช้สำหรับลาดตระเวนและตรวจการณ์ และยังสามารถบรรทุกหน่วยทหารลาดตระเวณ จำนวน 4-6 นาย
3. ยานเกราะพิฆาตรถถัง M1128 - Mobile Gun System (MGS)
ติดตั้งปืนใหญ่ M68A2 ขนาด 105 มม. พร้อมด้วยระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ และกระสุน 18 นัด สามารถยิงกระสุน M900 Kinetic Energy Penetrator ,M456A2 High Explosive Anti-Tank ,M393A3 High Explosive Plastic และ M1040 Canister Shot ใช้ในภารกิจต่อต้านรถถัง ยานเกราะ และยิงสนับสนุนทหารราบ
4. ระบบปืน ค. อัตตาจร M1129 - Mortar Carrier (MC)
ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดวิถีโค้ง สามาติดตั้งปืน ค. ได้ทั้งขนาด 120 มม., 81 มม. และ 60มม.
5. ยานเกราะบัญชาการ M1130 - Commander's Vehicle (CV)
ใช้ในภารกิจควบคุมและบัญชาการรบ มีการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร และระบบ C4ISR เพื่อใช้ควบคุมและบัญชาการยานเกราะในหน่วย
6. ยานเกราะชี้เป้าปืนใหญ่ M1131 - Fire Support Vehicle (FSV)
ใช้ในภารกิจตรวจการณ์หน้า เพื่อชี้เป้าหมายให้กับปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้อง ขีปนาวุธทางยุทธวิธี และรายงานผลการยิงเป้าหมาย
7. ยานเกราะทหารช่าง M1132 - Engineer Squad Vehicle (ESV)
ออกแบบมาเพื่อภารกิจของทหารช่างในสนามรบ หลักๆเพื่อในการเคลียร์สนามทุ่นระเบิดและสิ่งกีดขวางต่างๆในสนามรบนั้นเอง
8. ยานเกราะพยาบาล M1133 - Medical Evacuation Vehicle (MEV)
สามารถบรรทุกเปลสนามได้สูงสุดจำนวน 6 เปล
9. ระบบจรวดนำวิถีต่อต้านรถถังอัตตาจร M1134 - Anti-Tank Guided Missile Vehicle (ATGMV)
เป็นรุ่นที่ติดตั้ง จรวดนำวิถีต่อต้านรถถัง แบบ BGM-71 TOW เพื่อใช้ในภารกิจต่อต้านรถถัง
10. ยานเกราะลาดตระเวนณ์ สงครามเคมี ชีวะ และนิวเคลียร์ M1135 - Chemical, Biological, Reconnaissance, Nuclear Vehicle (CBRNV)
ใช้ในภารกิจลาดตระเวนในพื้นที่มีการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ชีวะ เคมี
ด้วยจำนวน 60 คัน ที่ กองทัพบกไทย จัดหามานี้ ถ้าให้คาดเดาโดยใช้การอ้างอิงจากการจัดหา ยานเกราะล้อยาง แบบ BTR-3E1 ได้แก่
1. M1126 Infantry Carrier Vehicle (ICV) รุ่นลำเลียงพล แบบเดียวกับ BTR-3E1
2. M1129 Mortar Carrier (MC) รุ่นติดปืน ค. แบบเดียวกับ BTR-3M1/M2
3. M1130 Commander's Vehicle (CV) รุ่นบัญชาการ แบบเดียวกับ BTR-3K
4. M1133 Medical Evacuation Vehicle (MEV) รุ่นรถพยาบาล แบบเดียวกับ BTR-3S
5. M1134 Anti-Tank Guided Missile Vehicle (ATGMV) รุ่นต่อต้านรถถัง แบบเดียวกับ BTR-3RK
แต่ไม่แน่ว่าอาจจะมีรุ่นอื่นๆตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ คืิอการคาดเดา ดังนั้นควรรอให้ส่งมอบให้กับ กองทัพบกไทย ก่อน คงจะได้ทราบว่ามีรุ่นอะไรบ้าง
- บริษัทในประเทศทำยานเกราะเองได้ ทำไมกองทัพไม่ซื้อ!!
ประเด็นสุดท้าย มีสื่อและบุคคลโจมตีการจัดหาของ กองทัพบกไทย โดยการอ้างว่า ประเทศไทยนั้น มีบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตยานเกราะล้อยางได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด, บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท ปรีชาถาวรอุตสาหกรรม จำกัด
เหตุใดกองทัพบกไทย จึงเลือกไม่จัดหา และโยงไปถึงเรื่องเงินทอน จากการตั้งงบโครงการสูงๆ ที่อ้างว่ารถแพง แต่ไปเอารถราคาถูกๆ เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งเข้ากระเป๋าตัวเอง ในขณะที่ของยานเกราะของไทย จะรู้ทราบราคาจะทำให้ตั้งงบพอดีงบประมาณ ทำให้ไม่ได้ส่วนแบ่งเข้ากระเป๋า บลาๆๆๆ
ประการแรกที่จะบอกคือ ทั้ง บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด, บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท ปรีชาถาวรอุตสาหกรรม จำกัด ยังไม่มีการผลิต หรือออกแบบ ยานเกราะล้อยาง แบบ 8x8 ออกมานำเสนอแม้แต่รายเดียว โดยผลิตภัณฑ์ที่ทั้ง 3 บริษัท พร้อมผลิตและจำหน่ายตอนนี้คือ ยานเกราะล้อยาง แบบ 4x4 ซึ่งเป็นยานเกราะล้อยางที่ไม่ได้ตรงตามภารกิจของ กองทัพบกไทย ต้องการที่จะใช้ปฏิบัติการณ์ในสนามรบ ซึ่งยานเกราะล้อยาง แบบ 8x8 มีการตอบสนองต่อภารกิจได้มากกว่า โดยเรื่องนี้ ถ้ายังแยกระหว่าง 4 ล้อ กับ 8 ล้อ ไม่ออกนั้น นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการโจมตี และทำให้ดูไร้ซึ่งความรู้ หรือข้อมูลเปล่าๆ
ณ เวลานี้ ยานเกราะล้อยาง แบบ 8x8 ที่ผลิตภายในประเทศก็มีเพียงแค่ โครงการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ - Defence Technology Institute (DTI) ในชื่อ DTI 8x8 Black Widow Spider ที่เป็น ยานเกราะล้อยาง แบบ 8x8 ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอยู่ เพราะยานเกราะล้อยาง แบบ 8x8 นั้น ไม่สามารถจะพัฒนาเสร็จได้ง่ายๆในเวลาไม่กี่ปี ดังนั้นความสามารถที่ตอบสนองต่อการปรับหน่วยของกองทัพ หรือการทดแทนของเก่าที่ล้าสมัยในทันทีไม่ได้ ซึ่งตรงส่วนนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในการที่เรายังไม่สามารถจัดหา ยานเกราะล้อยาง แบบ 8x8 ที่ผลิตภายในประเทศได้ในตอนนี้
- สรุป
ข้อมูลของโครงการจัดหาในครั้งนี้ นั้นก็ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก จะมีก็แต่เพียงข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับภายในกองทัพบกไทยออกมาเท่านั้น ส่วนสุดท้ายแล้วโครงการนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอดูกันตอนรับมอบจาก กองทัพบกสหรัฐฯ เพื่อนำเข้าประจำการใน กองทัพบกไทย ต่อไป....
เขียน และเรียบเรียงโดย : ณภัทร ยลละออ และปฏิภาณ นิกูลกาญจน์
แก้ไขล่าสุด วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 16:00 น.
อ้างอิง
1. http://www.inetres.com/gp/military/cv/inf/M1126.html
2. https://web.archive.org/web/20050420064632/http://www.army.forces.gc.ca/LF/english/5_4_1_4.asp?FlashEnabled=-1&
3. http://armyrecognition.com/november_2015_global_defense_security_news_uk/us_approves_sale_of_84_stryker_infantry_carrier_vehicles_to_lithuania_20611151.html
Comments