หลังจากกระทรวงกลาโหมเบลเยี่ยม ได้ลงนามจัดหาเครื่องบินขับไล่ล่องหน Lockheed Martin F-35A Lightning II จำนวน 34 ลำ ให้กับกองทัพอากาศเบลเยี่ยม มูลค่า 3,800,000,000 ยูโร กับบริษัท Lockheed Matin ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการจัดหาเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ General Dynamic F-16AM Fighting Falcon จำนวน 43 ลำ และเครื่องบินขับไล่ General Dynamic F-16BM Fighting Falcon จำนวน 9 ลำ
(อ้างอิงจากรายงานของเว็บไซต์ Flightglobal เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา) ที่ใช้งานมาตั้งแต่ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2522-2532 และจะทยอยปลดประจำการในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2566-2573
กองทัพอากาศเบลเยี่ยม จึงจะทำการปรับปรุงฐานทัพอากาศจำนวน 2 แห่ง ที่ประจำการฝูงเครื่องบินขับไล่ General Dynamic F-16AM/BM Fighting Falcon เป็นหลัก ได้แก่
ฐานทัพอากาศฟลอเรนซ์ - Florennes Air Base (ICAO: EBFS) ในเมืองฟรอเลนซ์ เขตวัลลูน มณฑลนาร์มู ทางใต้ของประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กองบินทางยุทธวิธี 2 โดยมีฝูงบินขับไล่ที่ 1 และฝูงบินขับไล่ 350 อยู่ในสังกัด ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเกิดอุบัติเหตุ ช่างซ่อมบำรุงเผลอกดยิงปืนใหญ่อากาศของเครื่อง F-16AM ขณะจอดอยู่ในโรงซ่อมบำรุง ทำให้เครื่องบิน F-16AM อีก 3 ลำ ที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามได้รับความเสียหายหนักจนต้องจำหน่ายเครื่องหมายเลข FA-128 ออก
ฐานทัพอากาศไคลเน โบลเกล - Kleine Brogel Air Base (ICAO: EBBL) ในเมืองเปร์ เขตเฟลมิช มณฑลลิมเบิร์ก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กองบินทางยุทธวิธี 10 โดยมี ฝูงบินขับไล่ที่ 31, ฝูงบินขับไล่ที่ 329 และหน่วยบินดำเนินการปฏิบัติการณ์อยู่ในสังกัดและเป็นที่เก็บรักษา ระเบิดอากาศนิวเคลียร์ B61 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ตามโครงการแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์ให้กองทัพชาติพันธมิตรนาโต - NATO Nuclear Weapons Sharing Program ซึ่งมี 5 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยมและตุรกี
นอกจากนั้นฐานทัพอากาศทั้ง 2 แห่ง ยังเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงหลักและศูนย์การสนับสนุนและป้องกัน ด้วยในตัว ซึ่งไม่ได้รับการปรับปรุงใดมาตั้งแต่ยุค 60 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503-2512) แล้ว จึงต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่
กองทัพอากาศเบลเยี่ยม ได้เปิดการประมูล โครงการปรับปรุงฐานทัพอากาศทั้ง 2 แห่ง เพื่อรองรับ เครื่องบินขับไล่ล่องหน Lockheed Martin F-35A Lightning II มูลค่า 275,000,000 ยูโร เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยรายละเอียดหลักๆได้แก่ก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมและความปลอดภัย
งานก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติม ในฐานทัพอากาศทั้ง 2 แห่ง ซึ่งอาคารดังกล่าวจะเป็น อาคารเตรียมการก่อนปฏิบัติภารกิจ อาคารห้องประชุมบรรยายสรุปการปฏิบัติภารกิจ (ซึ่งในอาคารนี้จะมีเครื่องจำลองการบินขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่จำนวน 4 เครื่อง) โรงซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเครื่องบินขับไล่ได้จำนวนมากถึง 6 ลำ หลุมจอดจำนวน 16 หลุม และส่วนขึ้นบินปฏิบัติการณ์ด่วน - Quick Reaction Alert สำหรับนักบิน และช่างเทคนิค ให้สามารถเตรียมความพร้อมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนเรื่องงบประมาณมูลค่า 275,000,000 ยูโร นั้น จะเป็นคนละส่วนกับที่ใช้ในการจัดหา เครื่องบินขับไล่รุ่นดังกล่าว แต่ก็ยังอยู่ในแผนงบประมาณระยะยาวของโครงการอยู่แล้ว โดยจะปรับปรุง ฐานทัพอากาศฟลอเรนซ์ เป็นแห่งแรก ซึ่งมีกำหนดเริ่มงานในปี พ.ศ. 2565 และปรับปรุง ฐานทัพอากาศไคลเน โบลเกล ในอีกปีต่อมา
ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น เนื่องด้วยเป็นการก่อสร้างอาคารทางการทหารที่สำคัญ จึงไม่มีผู้รับเหมารายใดที่ได้รับสำเนาสัญญาการก่อสร้างไปศึกษาก่อนได้ รวมทั้งทางการยังอนุญาตให้หน่วยงานความมั่นคงอย่าง Veiligheid van de Staat - Sûreté de l'Etat (VSSE) ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับของ กระทรวงยุติธรรมเบลเยี่ยม (ส่วนหน่วยสืบราชการลับของ กระทรวงกลาโหมเบลเยี่ยม คือ Service Général du Renseignement et de la Sécurité (SGRS) - General Intelligence and Security Service (GISS) นั่นเอง เข้าตรวจสอบและคัดเลือกผู้รับเหมาทุกราย รวมทั้งประมวลลักษณะของข้อมูลต่างๆว่าเป็นความลับหรือไม่ เพื่อไม่ให้พิมพ์เขียวหรือแบบแปลนของอาคารภายในฐานทัพอากาศตกไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี
งานด้านความปลอดภัย ผู้รับเหมาก่อสร้างนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบจาก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้วย เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญต่างๆกับบริษัท Lockheed Martin ประเทศสหรัฐอเมริกาผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่รุ่นดังกล่าว ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวอยู่ในข้อบังคับของหนังสือสัญญาการซื้อ-ขาย เครื่องบินขับไล่รุ่นดังกล่าว จำนวนไม่น้อยกว่า 174 หน้า
กองทัพอากาศเบลเยี่ยม คาดการณ์ว่าจะประจำการ เครื่องบินขับไล่ล่องหน Lockheed Martin F-35A Lightning II เป็นเวลามากกว่า 30 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดในระหว่างประจำการทั้งหมดอยู่ที่ 12,500,000,000 ยูโร ซึ่งรวมถึงต้นทุนบุคลากรของ นักบิน และช่างซ่อมบำรุง การซ่อมบุรงประจำวัน ค่าน้ำมัน แต่ถึงอย่างไรค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ไม่ใช่ค่าจ่ายที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายโดยปกติตั้งแต่ เครื่องบินขับไล่ General Dynamic F-16AM/BM Fighting Falcon ประจำการแล้ว
ส่วนข้อแตกต่างสำคัญของ เครื่องบินขับไล่ล่องหน Lockheed Martin F-35A Lightning II นั้นก็คือค่าบำรุงรักษาต่อชั่วโมงบินนั้นแพงกว่า เครื่องบินขับไล่ General Dynamic F-16AM/BM Fighting Falcon ถึง 20% ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมมานี้เป็นการชดเชยกับการที่สามารถนำเครื่องบินขับไล่รุ่นดังกล่าวบินออกปฏิบัติการได้น้อยลง ซึ่งการฝึกส่วนใหญ่จะใช้งานเครื่องจำลองการบินแทน
ที่มา
สำนักข่าว DeMorgen. สื่อท้องถิ่นประเทศเบลเยี่ยม
Comments