BrahMos (กำหนดชื่อรหัสเป็น PJ-10) เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำระยะปานกลางที่สามารถทำการยิงได้จากทั้ง เรือดำน้ำ เรือผิวน้ำ อากาศยานหรือแม้กระทั่งฐานยิงบนบก เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำที่เร็วที่สุดในโลก เป็นผลงานร่วมกันระหว่าง NPO Mashinostroyeniya องค์กรของสหพันธรัฐรัสเซีย และองค์การวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศอินเดีย (DRDO) ซึ่งมีการจัดตั้ง BrahMos Aerospace ขึ้นด้วยเพื่อรองรับในการพัฒนาเจ้า BrahMos โดยเฉพาะ
Brahmos มีพื้นฐานมาจากอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ P-800 Oniks และรวมไปถึงการนำเทคโนโลยีด้านอื่นๆจากรัสเซียเข้ามาช่วยในการพัฒนา โดยชื่อ Brahmos นั้นเป็นชื่อที่มาจากการนำชื่อของแม่น้ำสองสายคือ Brahmaputra (พรหมบุตร) ของอินเดียและ Moskva ของรัสเซีย มารวมกันจนเกิดเป็นชื่อ Brahmos
Brahmos จัดว่าเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำเร็วที่สุดในโลกที่อยู่ในประจำการเรียบร้อยแล้ว [15] [16] [17] ตัว BrahMos นั้นมีความเร็วสูงถึง 2.8 ถึง 3.0 Mach ซึ่งปัจจุบันทาง BrahMos Aerospace กำลังเตรียมอัพเกรดให้มีความเร็วสูงถึง Mach 5.0 ต่อไป [18] ซึ่งในตอนนี้นั้น Brahmos ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถทำการยิงจากเรือผิวน้ำและฐานยิงบนได้แล้ว และ BrahMos สำหรับยิงจากอากาศยานนั้นกำลังพัฒนาอยู่โดยให้มีความเสถียรที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทำรุ่นสำหรับยิงจากเรือดำน้ำซึ่งกำลังพัฒนาและทำการทดสอบอยู่เป็นระยะๆ ภายในประเทศอินเดียครับ
นอกเหนือไปกว่านั้น ในตอนนี้เมื่อช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมาได้มีการกล่าวถึงการพัฒนา BrahMos II โดยจะเป็นรุ่นที่ทำการยิงจากอากาศยานโดยจะมีความเร็วสูงถึง 7-8 Mach และมีการคาดการณ์ว่าจะมีการทดสอบภายในปี 2020
อินเดียต้องการให้ BrahMos นั้นมีความสามารถพื้นฐานเทียบเท่าหรือสูงกว่า P-700 Granit ซึ่งตัวเครื่องยนต์ของ BrahMos นั้นจะใช้เครื่องยนต์แบบ Ramjet จากทางรัสเซีย และในส่วนหัวรบและระบบนำวิถีนั้น BrahMos Aerospace จะเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนา ของซึ่งตลอดโครงการภายใต้ความร่วมมือกับทางรัสเซียนั้นคาดว่าจะมีตัวเลขมูลค่าการสั่งซื้อตลอดโครงการสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
และเมื่อปี 2016 อินเดียและรัสเซียกำลังวางแผนที่จะร่วมกันพัฒนา Brahmos รุ่นใหม่ที่มีระยะยิงไกลถึง 600 กม. ซึ่งรวมไปถึงการจะพัฒนาให้มีความสามารถในการทะลวงระบบป้องกันของเป้าหมายอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่จะนำไปสู่ 1 ในสุดยอดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำกันเลยทีเดียว
โดยมีญาติของเจ้า BrahMos คือ อาวุธปล่อยนำวิถีตระกูล P-800 Oniks หรือชื่อในวงการสำหรับการส่งออกก็คือ Yakhont ซึ่งก็แทบจะเรียกว่าเป็นฝาแฝดเลยก็ได้นะครับ เพราะรูปร่างและระบบต่างๆแทบไม่แตกต่างกันเลยครับ ซึ่งมันถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเจ้า BrahMos แต่สำหรับทางรัสเซียจะมีรุ่นสำหรับฐานยิงบนบกที่มีไว้ใช้สำหรับหน่วยป้องกันชายฝั่งคือ Bastion-P และยังมีรุ่นสำหรับยิงจากอากาศยานคือ KH-61 ด้วยอีกครับ เรียกได้ว่าเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีที่มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการยิงได้จากหลายรูปแบบ
ปล. แต่อย่าลืมนะครับว่าลูกจรวดที่ใช้ยิงจากแต่ละแบบนั้นมีความแตกต่างกันนะครับ ไม่สามารถเอามายำรวมกันได้นะครับ
จุดเริ่มต้น
BrahMos เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านการป้องกัน (DRDO) ของอินเดียและ NPO Mashinostroyeniya (NPOM) ของรัสเซีย โดยพัฒนาร่วมกันในฐานะ BrahMos Aerospace ผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาล บริษัท BrahMos Aerospace ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1998 โดยมีทุนจดทะเบียน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียถือหุ้น 50.5% มีส่วนร่วมในการลงทุนครั้งแรกอยู่ที่ 126.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รัสเซียถือหุ้น 49.5% โดยมีส่วนแบ่งการลงทุนในครั้งแรกอยู่ที่ 123.75 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตั้งแต่ปลายปี 2003 ตัว BrahMos ก็ได้เริ่มการทดสอบการยิงจากฐานยิงหลากหลายรูปแบบ โดยมีการทดสอบในทะเลทรายซึ่งห่างไกลจากผู้คน ซึ่งภายในสนามทดสอบนั้นมีทั้งการทดสอบ BrahMos รุ่นพื้นสู่พื้น (Ground to Ground) และยังมีการใช้ทะเลทรายพื้นที่ทดสอบดังกล่าวในการทดสอบรุ่นที่ทำการยิงจากเรือผิวน้ำเข้าโจมตีเป้าหมายบนฝั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งสนามทดสอบดังกล่าวคือ PoKhran ซึ่งแต่ก่อนสนามทดสอบนี้เคยเป็นสสนามทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของอินเดียด้วยครับ
Keltec (หรือมีเป็นที่รู้กันในชื่อ BrahMos Aerospace Trivandrum Ltd หรือ BATL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินเดีย ได้ถูกซื้อและควบรวมกิจการโดย BrahMos Cooperation ในปี 2008 ซึ่งการที่ Keltec ถูกซื้อและควบรวมกิจการไปนั้นก็เพื่อจะถูกนำไปลงทุนเพิ่มเติมโดย BrahMos Corp. เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตชิ้นส่วนของของตัวจรวด BrahMos ซึ่งแต่เดิมนั้นชิ้นส่วนกว่า 65% ของ BrahMos จะถูกสร้างขึ้นในรัสเซีย โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์และระบบนำวิถี จนกระทั่งในช่วงหลังที่ผ่านมานั้นได้มีการปรับสัดส่วนการผลิตใหม่ โดยในปัจจุบันมีชิ้นส่วนกว่า 65% แล้วที่ถูกสร้างและประกอบภายในอินเดียเอง และได้มีแผนการวางไว้ในอนาคตว่า อินเดียจะต้องมีสัดส่วนในการผลิตชิ้นส่วนให้ได้ถึง 85% โดยจะใช้ชิ้นส่วนที่ถูกผลิตขึ้นจากบริษัทภายในประเทศอินเดียเองครับ
ข้อมูลโดยรวม
ชื่อ : BrahMos
ประเภท : อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ/ อาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีภาคพื้นดิน
ประเทศผู้ผลิต : อินเดีย / รัสเซีย
เข้าประจำการ : พฤศจิกายน 2006
ผู้ผลิต : BrahMos Aerospace Limited (บริษัทร่วมทุนอินเดีย-รัสเซีย)
ราคา/นัด : ประมาณ 2.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/นัด
คุณลักษณะ
น้ำหนัก : 3,000 กิโลกรัม (6,600 ปอนด์) / 2,500 กิโลกรัม (5,500 ปอนด์) สำหรับรุ่นที่ทำการติดตั้งสำหรับอากาศยาน
ความยาว : 8.4 เมตร (28 ฟุต)
เส้นผ่าศูนย์กลาง : 0.6 ม. (2.0 ฟุต)
ขนาดหัวรบ : 200 กิโลกรัม (440 ปอนด์) สามารถติดตั้ง หัวรบธรรมดา/ เจาะเกราะ/ นิวเคลียร์ และ หัวรบขนาด 300 กิโลกรัม (660 ปอนด์) สำหรับรุ่นปล่อยจากอากาศยาน
เครื่องยนต์ : 1st Stage ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแข็ง 2nd Stage ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวแบบ Ramjet
พิสัยทำการยิง : ระยะยิงไกลสุด 450 กิโลเมตร และมีแผนจะปรับปรุงให้สามารถทำการยิงได้ไกลสุด 600 กิโลเมตร
พิสัยทำการยิง (จากอากาศยาน) : ระยะยิงไกลสุด 400 กิโลเมตร
เพดานบินสูงสุด : 46,000 ฟุต (14 กิโลเมตร)
เพดานบินต่ำสุดเมื่อใช้การบินเรี่ยผิวน้ำ : 3-5 เมตร
ความเร็ว 2.8 – 3 มัค (3,400-3,700 กม./ชม. 2,100-2,300 ไมล์/ชั่วโมง)
ระบบนำวิถี : GPS / GLONASS / GAGAN และ INS
ค่าความคลาดเคลื่อนจากเป้าหมาย (CEP) : 1 เมตร
ประเทศผู้ใช้งานในปัจจุบัน
อินเดีย : ทำการติดตั้ง BrahMos บนเรือฟริเกต และเรือพิฆาตของกองทัพเรืออินเดียจำนวนหลายลำด้วยกัน ในปัจจุบันมีเรือทั้งหมด 5 ชั้นของอินเดียที่ได้รับการติดตั้ง BrahMos เรียบร้อยแล้ว
- กองทัพเรืออินเดีย
- Rajput-class destroyers – INS Rajput มีแท่นยิง BrahMos แบบ 4 นัดจำนวน 2 แท่นยิง
INS Ranvir และ INS Ranvijay ติดตั้งท่อยิงแนวดิ่ง (VLS) สำหรับ BrahMos 1 แท่นมี 8 ท่อยิง
- Talwar-class frigate – เรือจำนวน 3 ลำล่าสุด ได้แก่ INS Teg, INS Tarkash, INS Trikand ติดตั้งท่อยิงแนวดิ่ง (VLS) สำหรับ BrahMos 1 แท่นมี 8 ท่อยิง บริเวณหัวเรือ
- Shivalik-class frigate – เรือทั้ง 3 ลำในชั้นนี้ ติดตั้งท่อยิงแนวดิ่ง (VLS) สำหรับ BrahMos 1 แท่นมี 8 ท่อยิง บริเวณหัวเรือเช่นกัน
- Kolkata-class destroyer – เรือทั้ง 3 ลำในชั้นก็ติดตั้งท่อยิงแนวดิ่ง (VLS) สำหรับ BrahMos บริเวณหัวเรือเช่นกัน เพียงแต่มีความแตกต่างออกไปเพียงนิดหน่อยคือมี 2 แท่นหรือ 16 ท่อยิงนั่นเอง
- Visakhapatnam-class destroyer – เรือพิฆาตรุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพเรืออินเดีย โดยกองทัพเรืออินเดียมีแผนที่จะต่อเรือชั้นนี้ขึ้นมาทั้งหมดจำนวน 4 ลำ โดยทั้ง 4 ลำทางกองทัพเรืออินเดียก็มีแผนที่จะทำการติดตั้งท่อยิงแนวดิ่ง (VLS) สำหรับ BrahMos เช่นกัน โดยจะทำการติดตั้งทั้งหมด 2 แท่นหรือ 16 ท่อยิงบริเวณด้านหน้าของเรือเช่นเดียวกับเรือพิฆาตชั้น Kolkata นั่นเอง
- กองทัพบกอินเดีย : กองทัพบกได้นำ BrahMos เข้าประจำการในปี 2007 โดยเป็น BrahMos Block I หรือรุ่นแรกนั่นเอง โดยตอนนี้มี BrahMos เข้าประจำการแล้ว 3 กรม
- กรมทหารที่ 861 ใช้งาน BrahMos Block I โดยมีรถยิงจำนวน 5 คัน
- กรมทหารที่ 862,863 ใช้งาน BrahMos Block II โดยแต่ละกรมจะมีรถยิงอยู่กรมละ 4-6 กองพัน และรวมแล้วแต่ละกรมจะมี BrahMos อยู่ 72 นัดต่อ 1 กรม
โดยที่กรมทหารทั้ง 3 นั้นจะสังกัดอยู่กับกองพลทหารปืนใหญ่ที่ 40th และ 41st และล่าสุดได้มีการจัดตั้งกรมทหารที่ 864 ซึ่งจะเป็นกรมที่ได้ใช้งาน BrahMos Block III รุ่นล่าสุด
รัสเซีย : กองทัพรัสเซียมีแผนการเกี่ยวกับการนำ BrahMos เข้าประจำการใน 2 ส่วน ได้แก่
- กองทัพเรือรัสเซีย : เคยมีข้อมูลแบบไม่เปิดเผยที่มากล่าวว่าอาจจะมีการนำ BrahMos ไปทำการติดตั้งบนเรือฟริเกตสุดล้ำอย่าง Project 22350 Admiral Gorshkov-class แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลใดออกมาเพิ่มเติมแต่อย่างไร
- กองทัพอากาศรัสเซีย : มีการเปิดเผยออกมาว่ากองทัพอากาศรัสเซียมีความสนใจที่นำ BrahMos รุ่นยิงจากอากาศยานไปทำการติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่ครองอากาศแบบ Su-30SM เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำการรบและโจมตีเรือรบและเป้าหมายภาคพื้นดิน
วิเคราะห์
จากข้อมูลที่ได้อ่านกันไปข้างบนคงเห็นภาพอย่างชัดเจนแล้วว่าเจ้า BrahMos นั้นน่ากลัวมากขนาดไหนสำหรับเรือผิวน้ำสมัยนี้นะครับ ด้วยความเร็วที่แตะ 3 มัค เข้าไปแล้วนั้น ยังแบกหัวรบขนาด 200 กิโลกรัมที่เมื่อรวมกับความเร็วแล้วจะทำให้เกิดพลังงานจลน์มหาศาลแน่ๆเมื่อปะทะเข้าตัวเรือที่เป็นเป้าหมาย และสิ่งสำคัญเลยที่ทำให้เจ้า BrahMos น่ากลัวเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีกก็คือระยะยิงที่สามารถยิงได้ไกลสุดถึง 450 กม. สำหรับรุ่นยิงจากเรือผิวน้ำ และระยะยิงไกลถึง 400 กม.สำหรับรุ่นยิงจากอากาศยาน ด้วยทั้งหมดทั้งมวลทีได้อ่านกันไปก็แสดงถึงความเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ ของเรือผิวน้ำในยุคหน้าอย่างแน่นอนครับ
ที่มา
ข้อมูล :
รูปภาพ :
เขียนและเรียบเรียงโดย : ปฏิภาณ นิกูลกาญจน์
Comments