EEC (Easten Economics Corridor) หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ของประเทศไทย ที่ได้มีการตั้งขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ที่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง New S-Curve และการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมอย่าง S-Curve เดิมรวมๆแล้วกว่า 10 อุตสาหกรรม
แต่ในช่วงที่ผ่านมาไม่นานมานี้นั้นก็ได้มีการเพิ่มอุตสาหกรรมสำหรับ New S-Curve อุตสาหกรรมที่ 11 เข้าไปอยู่ในเขต EEC ซึ่งก็คือ "อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ" ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของไทย และเมื่อได้เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในเขต EEC แล้วนั้น ถ้ามีการมีมาลงทุนของบริษัทเอกชนจากทั้งในและต่างประเทศก็สามารถที่จะสิทธิพิเศษด้านภาษีจาก BOI (Board Of Investment) หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ดังนี้
1) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมยานพาหนะ และระบบอาวุธเพื่อการป้องกันประเทศ ได้แก่ รถถัง รถเกราะ หรือยานพาหนะรบ ยานพาหนะช่วยรบ ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม ได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A2 “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ, ยกเว้นอากรเครื่องจักร, ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี
2) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมยานไร้คนขับเพื่อการป้องกันประเทศและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม ได้แก่ ระบบยานภาคพื้นไร้คนขับ เช่น หุ่นยนต์สำหรับการปฏิบัติการทางทหาร, ระบบยานทางน้ำไร้คนขับ เช่น ยานผิวน้ำ/ใต้น้ำไร้คนขับ, ระบบอากาศยานไร้คนขับเช่น อากาศยานไร้คนขับแบบปีกติดลำตัว/ปีกหมุน/ผสม, ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม เช่น ตัวโครงสร้างหลัก แขนกล มือจับ ระบบติดต่อสื่อสาร ระบบกล้อง ระบบสมองกล ระบบไฟฟ้า และแบตเตอรี่ จะได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A1 “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่ cap วงเงิน) บวกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ, ยกเว้นอากรเครื่องจักร, ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี
3) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมอาวุธและเครื่องช่วยฝึกเพื่อการป้องกันประเทศและชิ้นส่วน ด้านการผลิตและ/หรือซ่อมอาวุธ เช่น อาวุธปืน กระสุนปืนระบบจรวด รวมทั้งระบบควบคุม รถยิงหรือสิ่งนำพาไปของระบบจรวด, ชิ้นส่วนเฉพาะที่ใช้ในการผลิตและ/หรือซ่อม ได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A2, ระบบจำลองยุทธ์และการฝึกเสมือนจริง เช่น ระบบเครื่องช่วยฝึกยานรบเสมือนจริง ระบบเครื่องช่วยฝึกใช้อาวุธเสมือนจริง ระบบสนามฝึกยิงอาวุธประจำกายและอาวุธประจำหน่วย ระบบจำลองยุทธ์ปฏิบัติการร่วม จะได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A1
4) กิจการผลิตและ/หรือซ่อมอุปกรณ์ช่วยรบ ได้แก่ เสื้อเกราะกันกระสุนและสะเก็ดระเบิด แผ่นเกราะหรือโล่ป้องกันกระสุนและสะเก็ดระเบิด ได้สิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม A2
โดยสิทธิพิเศษด้านภาษีตามข้างต้นนั้น ยังไม่รวมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยตรงอย่าง อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว
โดยอุตสาหกรรมการบินสำหรับประเทศไทยแล้วนั้น ถือว่ามีความใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียนทั้งในด้านมูลค่าของอุตสาหกรรม และในด้านความสามารถของเอกชนที่มีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในระดับ Teir 3 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์กำลังพัฒนาเพื่อต่อไปยังระดับที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต
และในส่วนของอุตสาหกรรมการบินที่จะสามารถมาสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปด้วยได้ก็คือในส่วนของงานศูนย์ MRO (Maintenance Repair and Overhaul) หรือเรียกง่ายๆว่าศูนย์ซ่อมและบำรุงอากาศยานแบบครบวงจร ซึ่งแต่เดิมนั้นในส่วนของงาน MRO นั้น ภายในประเทศไทยถือว่ามีตลาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนอย่าง สิงคโปร์และอินโดนีเซียที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำด้าน MRO ในภูมิภาคอาเซียนเลยก็ว่าได้
แต่..จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็มาถึงเมื่อทาง Airbus บริษัทด้านอากาศยานยักษ์ใหญ่ได้ลงนาม MOU กับการบินไทยในการร่วมการทำศูนย์ MRO อากาศยาน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งการมาลงทุนในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของ Airbus ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนไปโดยปริยาย และสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ที่สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งแก่วงการอุตสาหกรรมอากาศยานของเมืองไทยก็คือ......Saab AB.
Saab AB. จากสวีเดน ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่แบบล่าสุดของทัพอากาศไทยอย่าง JAS-39 Gripen ที่เข้าประจำการไปล่าสุด 12 ลำ ได้มาลงนามร่วมกับบริษัทที่มีความสามารถอันดับต้นๆของประเทศไทยอย่าง AMATA ผู้ผลิตสินค้าหลากหลายชนิด และมีนิคมอุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดยลงนามร่วมกันในการพัฒนา Aeropolis หรือเมืองการบินพร้อมทั้งพัฒนา Smart City ในบริเวณพื้นที่ EEC อีกด้วย ซึ่งนอกจากเรื่องข้างต้นแล้วยังมีการวางแผนที่จะทำศูนย์ MRO ของ Saab เองภายในประเทศไทยเหมือน Airbus และถ้าหากมีการดำเนินการดังกล่าวก็จะทำให้กองทัพอากาศนั้นมีประสิทธิภาพในการบริหารงานการดูแลรักษาอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงยังมีโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
จะเห็นได้ว่านี่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ผู้เขียน จะนำมาเขียนในตอนต่อไปของซี่รีย์ : ประเทศไทยกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในพื้นที่ EEC โดยในตอนต่อไปจะมาเล่าถึงการโครงการต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไปนะครับ
เขียน และเรียบเรียงโดย : ปฏิภาณ นิกูลกาญจน์
ที่มา :
Comments