top of page

H145M กับแนวทางในอนาคตของ Airbus Helicopter

รูปภาพนักเขียน: DEFNETDEFNET

อัปเดตเมื่อ 31 พ.ค. 2564


H145M กับแนวทางในอนาคตของ Airbus Helicopter

 

H145M คือ 1 ในอากาศยานปีกหมุนที่มีพื้นฐานของอากาศยานที่ใช้ในภารกิจของพลเรือน จนเข้ามาสู่การเป็นอากาศยานปีกหมุนทางทหารที่สำคัญมากที่สุดแบบหนี่งของ Airbus Helicopter


โดยภายใน Livestream ของ Trade Media Briefing 2020 ของ Airbus ที่มีผู้บรรยายในส่วนของ H145M อย่างคุณ Axle Humpert ได้อธิบายถึง H145M ว่าจะเป็นอากาศยานปีกหมุนเบาที่ถือได้ว่าเป็น Key Product หรือผลิตภัณฑ์หลักสำหรับการใช้งานในอนาคตที่ทาง Airbus Helicopter ได้วางแผนไว้

ภายใต้การพัฒนา H145M จากพื้นฐานของเครื่อง MBB/Kawasaki BK 117 C1 ที่ปล่อยออกสู่ตลาดในปี ค.ศ.1981 จนมีการพัฒนาเรื่อยๆโดยทางฝั่ง Airbus Helicopter จนออกมาเป็น EC145 และ EC145T2 ที่ภายหลังทาง Airbus Helicopter ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "H145" และนำไปสู่รุ่นใช้งานทางทหาร คือ "H145M" ในภายหลัง


H145M เป็นอากาศยานปีกหมุนอเนกประสงค์ ที่มีความเร็วมากถึง 130 น็อต ด้วยความสามารถของเครื่องยนต์ Safran ARRIEL 2E จากบริษัท Safran ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 2 เครื่องยนต์

H145M รองรับน้ำหนักได้มากสุดที่ 1.897 ตัน และความสามารถในการติดสลิงเพื่อยกสัมภาระภายนอกลำตัวที่ 1.6 ตัน


ตัวอากาศยานสามารถปฏิบัติการได้ตั้งแต่อุณหภูมิต่ำจนติดลบ 45 องศาไปจนถึงอากาศร้อนสุดขั้วที่ 55 องศา และยังมีเพดานบินสูงถึง 20,000 ฟุต

โดยในปัจจุบันมีการใช้งาน H145M อยู่ทั่วโลกกว่า 45 ลำ จากจำนวน 52 ลำที่มีการสั่งจัดหามาที่ Airbus Helicopter ใช้งานใน 6 ประเทศ ซึ่ง 1 ในประเทศที่มีการใช้งานก็คือ "กองทัพเรือไทย" ที่มีการจัดหาเข้าประจำการไปทั้งหมด 5 ลำ โดยทั้งหมดประจำการอยู่ในกองบินทหารเรือ กองทัพเรือ


ด้วยความที่ H145M เป็นอากาศยานปีกหมุนอเนกประสงค์ จึงทำให้มีขีดความสามารถรองรับในการปฏิบัตภารกิจต่างๆมากมาย อาทิเช่น

• การขนส่งทหาร

• การปฏิบัติการพิเศษ

• สนับสนุนทางอากาศ

• การบินลาดตระเวนและตรวจการณ์

• การปฏิบัติการทางการแพทย์

ซึ่งขีดความสามารถในการทำภารกิจข้างต้นนั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการหน่วยงานที่มีการจัดหาไปใช้งาน


อีก 1 จุดเด่นที่จะพูดถึงไม่ได้เลยก็คือขีดความสามารถของ H145M ในการนำเอามาใช้งานในกาปฏิบัติการทางยุทธวิธี ที่หน่วยงานที่จัดหาไปนั้นสามารถทำการแยกส่วนและบรรรทุก H145M ไปกับอากาศยานขนส่งทางยุทธวิธีแบบต่างๆได้


โดยหากบรรทุกไปกับอากาศยานลำเลียงอย่าง A400M นั้นสามารถบรรทุกไปได้ 1 ลำ และสามารถบรรทุกไปได้มากถึง 4 ลำ ในเครื่อง C-17 Globemaster และมากสุดที่ 6 ลำในเครื่อง AN-124 และสิ่งที่ทำให้เป็นจุดเด่นของ H145M นอกจากการสามารถแยกชิ้นส่วนแล้วนำไปแนวหน้ากับอากาศลำเลียงแล้วนั้น H145M ยังสามารถออกปฏิบัติการได้ในเวลาเพียง 30 นาที หลังจากที่ทำการโหลด H145M ออกจากอากาศยานลำเลียง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของ H145M เลยก็ว่าได้

 

แผนงานการพัฒนาในอนาคต


ด้วยการเป็น 1 ใน Key Product ของ Airbus Helicopter ทางทีมงาน Airbus Helicopter จึงมีการพัฒนา H145M อย่างต่อเนื่อง


โดยภายในช่วงสิ้นปี 2021 จะมีแผนเปิดตัว H145M ในรุ่น 5 ใบพัด ซึ่งจะมีการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการของ H145M ให้มากขึ้นกว่าเดิม และจุดเด่นในครั้งนี้คือ เมื่อมี 5 ใบพัดแล้วจะทำให้ตัวอากาศยานมีขีดความสามารถในการบรรทุกเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 150 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากสำหรับอากาศยานในพิกัดนี้


และยังมีแผนการพัฒนาเพื่อติดตั้งระบบแจ้งเตือนในอากาศ (EWS : Early Warning Systems) อย่าง RWR : Radar Warning Receiver หรือระบบเรดาร์แจ้งเตื่อนใน H145M เพื่อให้มีขีดความสามารถในการป้องกันตนเองที่มากขึ้น


สำหรับแผนงานระยะยาวของการพัฒนา H145M ที่น่าสนใจคือระบบ MUM-T (Manned-Unmanned-Teaming) หรือระบบที่รองรับในการทำงานสอดประสานกันเป็นทีมระหว่างอากาศยานที่มีคนขับ และอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งเป็นจะเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในการพัฒนา H145M ที่จะเข้ามามีส่วนใน Network Centric Warfare มากขึ้นในอนาคต และนอกจากนี้ ยีงมีแผนที่จะทำการติดตั้งระบบอาวุธปล่อยนำวิธีอากาศสู่พื้นเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย

 

คำถามของ DEFNET


ทาง DEFNET Military ได้ทำการส่งคำถามไปในการ Livestream ด้วยว่า


"จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการอัพเกรดหรือปรับปรุง H145M ให้มีขีดความสามารถในการทำภารกิจต่อต้านยานเกราะหรือรถถัง และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถทำการแปลง H145M ไปสู่เวอร์ชั่นสำหรับการใช้งานทางทะเลในการต่อต้านเรือผิวน้ำ หรือเรือดำน้ำ"


ซึ่งทางคุณ Axle Humpert ก็ได้ตอบกลับคำถามของเราไว้ว่า


"นั่นเป็นคำถามที่ดีมาก และคำตอบก็สั้นมากด้วยเช่น, ใช่ มันเป็นไปได้ (Good question, the answer in short. Yes, it's possible)"


จึงเป็นที่สรุปได้แบบคร่าวๆ จากคำตอบของคุณ Axle Humpert ว่าในอนาคตนั้นเป็นไปได้ ที่เราจะได้มีโอกาสเห็น H145M ในรุ่นต่อสู้รถถังและรุ่นสำหรับใช้งานทางทะเล

ซึ่งแน่นอนว่า หากมีการอัพเกรดให้ H145M มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจที่มากขึ้น นั่นย่อมหมายถึงต้นทุนของหน่วยงานที่ลดลงในการจัดหาอากาศยานมาใช้งาน และในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดตลาดที่น่าสนใจสำหรับการเพิ่มลูกค้าที่มีงบประมาณไม่เยอะมากในการจัดหาอากาศยานปีกหมุนเพื่อมาใช้ปฏิบัติภารกิจดังกล่าว

 

DEFNET Military ขอขอบคุณทาง Airbus ที่ได้เชิญพวกเราเข้าร่วมฟัง Trade Media Briefing 2020 แม้ DEFNET Military ยังเพียงสื่อทางการทหารหน้าใหม่ที่พึ่งเริ่มต้นเพียงแค่ 2 ปี แต่ทาง Airbus ได้เห็นถึงความสำคัญของ DEFNET Military ในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารของทาง Airbus ให้สาธารณชนคนไทยได้รับทราบต่อไป

เขียน และเรียบเรียงโดย : DEFNET Military [เนื้อหา การเขียน และเรียบเรียงถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเพจ DEFNET Military ไม่อนญาตให้ทำการคัดลอก หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต]

ดู 362 ครั้ง1 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

DEFNET Old Cam : Far and B&W

DEFNET Old Cam Far and B&W DEFNET Old Cam วันนี้มาแปลก อาจจะงงว่าทำไม ภาพที่ถ่ายมันเป็นขาวดำ ภาพแตกๆ ดูเหมือนภาพเก่าเลย...

1 comentário


LWYS PARAGON
LWYS PARAGON
18 de jan. de 2021

ภารกิจต่อสู่รถถัง มันควรจะทำได้ เพราะฮ.ตระกูลนี้มันพัฒนามาจาก รุ่น BO-105 ของMBB สมัยโบราณที่สร้างมาเป็น ฮ.ต่อสู้รถถังอยู่แล้ว (PAH-1)

Curtir
bottom of page