top of page
รูปภาพนักเขียนDEFNET

Type 10 สุดยอดรถถังแดนซามูไร

อัปเดตเมื่อ 8 มี.ค. 2562

Type 10 Tank

Type 10 จัดเป็นรถถังยุคที่ 4 ของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่น ต่อจาก Type 61,74,90

การพัฒนารถถัง Type 10 นั้นเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น และสำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของญี่ปุ่น โดยมีผู้รับหน้าที่ในการสร้างต้นแบบคือ Mitsubishi Heavy Industries (MHI) การพัฒนารถถังรุ่นเนื่องมาจากความต้องการที่สูงขึ้นของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นที่ต้องการจะได้รถถังที่มีทั้ง อำนาจการยิงที่รุนแรงขึ้น ความคล่องตัวที่สูง ความสามรถในการป้องกันที่สูงขึ้น และมีน้ำหนักตัวที่เบาลงกว่าเดิม ซึ่งก็เหมือนทุกครั้ง Type 10 คือชื่อที่ถูกตั้งขึ้นเนื่องจากรถถังรุ่นนี้นั้นเข้าประจำการในปี 2010



การวิจัยและพัฒนา

Type 10 นั้นเป็นรถถังจากโครงการพัฒนารถถังยุคใหม่จากโครงการรุ่นที่ 4 ของโครงการ TK-X ซึ่งผลงานจากโครงการนี้ในช่วงรุ่นที่ 1-3 ก็คือรถถังทั้ง 3 รุ่นที่เข้าประจำการไปก่อนหน้า Type 10


Type 61 Tank

Type 74 Tank

ด้วยความต้องการรถถังยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในทุกๆด้าน จึงได้มีการพัฒนาระบบควบคุมและบัญชาการแบบรวมศูนย์หรือ C4I เพื่อสำหรับใส่และติดตั้งเข้าไปในรถถังรุ่นใหม่คันนี้ด้วย เพิ่มระบบควบคุมและสั่งการ เพิ่มความสามารถในส่วนของการเคลื่อนที่ แต่ในขณะเดียวก็ลดขนาดและน้ำหนักลงให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติการ ทั้งหมดก็เพื่อที่จะสามารถนำเข้าประจำการทั่วประเทศและสามารถปฏิบัติการร่วมกันทั้งประเทศได้


ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการพัฒนารถถังรุ่นใหม่ขึ้นมาก็เนื่องมาจากเมื่อมีรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลของรถังประเทศและในประเทศออกมาแล้วพบ 2 ประเด็นที่สำคัญดังนี้


  • หากเมื่อทำการดัดแปลงรถถัง Type 74 หรือ Type 90 เพื่อใส่ระบบ C4I เข้าไปแล้วนั้น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากพื้นที่ภายในตัวป้อมนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับ รวมไปถึงมีพื้นที่ภายในป้อมที่แคบเกินไปจนไม่สามารถติดตั้งระบบอื่นๆเสริมเข้าไปได้ ซึ่งในรูปแบบการรบสมัยใหม่ของญี่ปุ่นนั้นมีความต้องการให้ทุกหน่วยนั้นมีความสามารถในการติดตั้งระบบ C4I เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศของการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นทำให้รถถังรุ่นก่อนหน้านั้นไม่สามารถตอบโจทย์ของหลักนิยมทางการรบสมัยใหม่ได้


  • รถถังจากต่างประเทศ ก็เช่นกัน ในรถถังรุ่นใหม่นั้นมีน้อยมากที่จะทำการติดตั้งระบบ C4I แบบสมบูรณ์แบบตามความต้องการของกองกำลังป้องกันตนเองเข้าไป และนอกจากนี้ยังรวมไปถึงคุณลักษณะของรถถังจากต่างขาติส่วนใหญ่นั้นมีน้ำหนักที่มากและใหญ่เกินไปที่จะสนับสนุนการทำการรบภายใต้หลักนิยมทางการรบของญี่ปุ่นได้ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ กองกำลังป้องกันตนเองนั้นมีระบบ C4I ที่มีความเฉพาะของตนเองสูงมากๆ จึงทำให้การพิจารณาถึงการงานรถถังจากต่างชาตินั้นถูกตีตกไป


Type 90 Tank

ซึ่งจาก 2 ประเด็นข้างต้น ทั้งเรื่องการดัดแปลงรถถังที่มีอยู่ในประจำการในช่วงนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนารถถังรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน เพื่อให้บรรลุตามความต้องการความสามารถและประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อการทำการรบภายในอนาคตอันใกล้นี้ ที่จะต้องมีการใช้ระบบ C4I เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรทางการรบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


การรับผิดชอบในการพัฒนารถังรุ่นใหม่คันนี้นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

  • ส่วนวิจัยและพัฒนา รับผิดชอบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติและกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น

  • ส่วนการสร้างต้นแบบตัวรถ รับผิดชอบโดย Mitsubishi Heavy Industries หรือ MHI


โดยมีการเซ็นสัญญาและข้อตกลงในการพัฒนาตั้งแต่ช่วงปีงบประมาณ 2002 – 2007 เพื่อสร้างต้นแบบในช่วงปีงบประมาณ 2002 – 2008 และมีการวางแผนที่จะทำการทดสอบมาตรฐานในปี 2004 ต่อไป


วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2008 มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชนของรถถังแบบ Type 10 โดยเป็นการตั้งแสดงที่ส่วนงานวิจัยและพัฒนาในสำนักงานที่เมืองซากามิฮาระ ในจังหวัดคานางาวะ และในครั้งนั้นก็เป็นการเปิดเผยภาพและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆเกี่ยวรถถัง Type 10 ทั้งหมดภายในงานนั้น โดยภายในงานเปิดตัวในครั้งนั้นได้มีการเปิดเผยถึงราคาของรถถัง Type 10 ว่าอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านเยนต่อคัน ซึ่ง Type 10 ที่ถูกนำไปทำการเปิดตัวในครั้งนั้น เป็นรถต้นแบบคันที่ 2 ของโครงการ Type 10


วันที่ 10 มกราคม 2012 คือวันประวัติศาตร์ของ Type 10 เนื่องจากเป็นวันที่ถือว่าเป็นการโชว์ตัวครั้งแรกในฐานะรุ่นที่เข้าประจำการแล้ว ไม่ใช่คันต้นแบบเหมือนเมื่อตอนปี 2008 ซึ่งในวันนั้นได้มีพิธีเข้าประจำการอย่างเป็นทางการของ Type 10 มีทั้งพิธีการทางศาสนาและการเข้าประจำการโดยมีการติดแผ่นป้ายหมายเลขเข้าประจำการ โดยงานพิธีในครั้งนั้นถูกจัดขึ้นที่ Fuji Self-Defense Force School ซึ่งตัวรถที่เข้าประจำการจริงนั้นมีความแตกต่างจากตัวต้นแบบไปพอสมควร และมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้


  • รูปร่างของเกราะเสริมบริเวณด้านข้างตัวป้อมปืนนั้นเป็นเกราะแบบ Modular แทน

  • การเปลี่ยนตำแหน่งของตัววัดตำแหน่งลำกล้องปืนใหญ่

  • ทรงของตัวรถบริเวณด้านหน้า

  • มีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์บางอย่างบริเวณด้านหลังของตัวรถ

  • มีการเพิ่มบันไดสำหรับปืนเพื่อเข้าไปในรถถัง

  • ท่อยิงระเบิดควันขนาด 76 มิลลิเมตร ที่ถูกจับมารวมกันไว้ที่จุดเดียว ไม่ได้แยกกันเหมือนตัวต้นแบบ


ประสิทธิภาพ

ด้านประสิทธิภาพของ Type 10 นั้นอย่างอำนาจในการยิง การป้องกัน การขับเคลื่อนนั้นมีการออกแบบบนพื้นฐานความคิดที่ว่า ต้องเหนือกว่ารถถังรุ่นก่อนหน้าอย่าง Type 90 ทั้งหมด โดยยังคงจำนวนพลประจำรถอยู่ที่ 3 คนคือ พลขับ พลปืน และผบ.รถ


เพื่อสร้างความสามารถในการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและสามารถต่อกรกับการรบในอนาคตและทำสงครามภายในเขตเมือง จึงมีการเพิ่มคุณสมบัติเหล่านี้เข้าไปในรถถัว Type 16 ดังนี้

  • เพิ่มระบบควบคุมและบัญชาการแบบ C4I

  • เพิ่มอำนาจการยิง

  • เพิ่มความสามารถในการป้องกันและการเคลื่อนที่

  • กะทัดรัดและน้ำหนักเบาเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติการได้ทั่วประเทศ

  • มีค่าใช้จ่ายตลอดการใช้งานในส่วนของอะไหล่ที่มีอัตราการเสื่อมเร็วต่ำ

  • สามารถรองรับการติดตั้งเทคโนโลยีในอนาคตได้


อำนาจการยิง

ระบบอาวุธหลักของ Type 10 คือปืนใหญ่ลำกล้องเรียบขนาด 120 มิลลิเมตร ยาว 44 คาลิเบอร์ ผลิตโดย Japan Steel Works ซึ่งได้มีการพัฒนาลำกล้องปืนที่มีความสามารถในการรองรับแรงดันสูงที่มีน้ำหนักเบาลงกว่ารุ่นทั่วไปถึง 13% โดยมีความสามารถในการยิงกระสุนปืนใหญ่ได้หลากหลายชนิด รองรับการการยิงกระสุนเจาะเกราะทรงตัวด้วยครีบหาง (APFSDS-T) ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างภายในเพื่อรองรับความสามารถในติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 120 มิลลิเมตร ยาว 55 คาลิเบอร์ได้ในอนาคต


ด้วยการออกแบบทำให้ Type 10 นั้นที่มีขนาดเล็กลงกว่ารถถังรุ่นก่อนอย่าง Type 90 นั้นสามารถใช้งานกระสุนปืนใหญ่ขนาด 120 มิลลิเมตรแบบเดียวกับที่ใช้งานบน Type 90 ได้ทุกแบบ เนื่องจากตัวต้นแบบของปืนใหญ่ขนาด 120 มิลลิเมตรที่ใช้บน Type 10 ก็คือปืนใหญ่แบบ Rheinmetall ขนาด 120 มิลลิเมตร ยาว 44 คาลิเบอร์นั่นเอง ซึ่งด้วยเหตุผลตรงนี้ทำให้นอกจากจะใช้กระสุนมาตรฐานแบบเดียวกับ Type 90 ได้แล้วนั้นยังสามารถใช้กระสุนปืนใหญ่ขนาด 120 มาตรฐานนาโต้ได้ทุกชนิดอีกด้วย


นอกจากปืนใหญ่หลักขนาด 120 มิลลิเมตรนั้น ยังมีปืนกลร่วมแกนแบบ Type 74 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร พร้อมกับปืนกลต่อต้านอากาศยานแบบ M2 ขนาด 12.7 มิลลิเมตรติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาป้อมซึ่งสามารถหมุนได้รอบทิศ 360 องศา


ระบบโหลดกระสุนอัตโนมัติ

ระบบโหลดกระสุนอัตโนมัติบน Type 10 นั้นแทบจะเรียกว่าถอดแบบมาจากระบบเดียวกับที่ใช้งานบน Type 90 เลยทีเดียว เพียงแต่ว่าความแตกต่างที่สำคัญก็คือจำนวนกระสุนที่สามารถนำไปด้วยได้ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า Type 90 ที่มีขนาดของตัวรถและป้อมปืนที่ออกแบบมาให้มีความสามารถในการนำกระสุนไปด้วยได้มากกว่า โดย Type 10 นั้นมีกระสุนพร้อมยิงอยู่ที่ 14 นัดในระบบโหลดกระสุนอัตโนมัติ และอีก 22 นัดบริเวณที่เก็บกระสุน ซึ่งความแตกต่างที่สำคัญของระบบการเติมกระสุนของ Type 10 คือสามารถทำการโหลดกระสุนจากบริเวณคลังเก็บกระสุนเข้ามายังระบบโหลดกระสุนอัตโนมัติได้ด้วย



ระบบควบคุมการยิง

ระบบควบคุมการยิงของ Type 10 นั้นถูกจัดว่าเป็นระบบควบคุมการยิงที่ทันสมัยที่สุดแบบนึงของโลกเลยก็ว่าได้ ด้วยการมีระบบฟังก์ชั่นการล็อคและติดตามเป้าหมายอัตโนมัติ และในการยิงนั้นสามารถทำการยิงโดยใช้ระบบจอสัมผัสในการควบคุมการยิงได้อีกด้วย โดยที่สามารถทำแบบนี้ได้ มาจากผลของการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง Type 10 ในหมวดรถถังด้วยกันเองที่สามารถเชื่อมโยงการชี้เป้าหมายของอีกคันไปยังอีกคันด้วยระบบการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้สาย โดยมีความสามารถในล็อคและยิงเป้าหมายแบบล็อกล่วงหน้าได้ถึง 8 เป้าหมาย โดยเป็นการชี้และล็อกเป้าหมายด้วยการสนับสนุนของ Type 10 ในหมวดรถถังเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีระบบที่จะช่วยคำนวนหาเป้ามหายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรถถังแต่ละคันได้อีกด้วย ซึ่งด้วยระบบดังกล่าวทำให้ Type 10 สามารถจัดการเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Type 10 นั้นมีระบบค้นหาแบบอัตโนมัติ โดยเมื่อเซนเซอร์มีการตรวจจับเป้าหมายแล้วนั้นจะทำการระบุประเภทของเป้าหมายว่าเป็นชนิดใดจากรูปร่างบนฐานข้อมูลที่มีอยู่ แล้วหลังจากั้นจะทำการประเมินระดับภัยคุมคามของสิ่งที่ตรวจพบ ซึ่งเป้าหมายที่แสดงอยู่ในหน้าจอนั้นจะมีการแสดงในรูปแบบของรหัสสีต่างๆ ว่ามีลักษณะของเป้าหมายว่าเป็นอย่างไร แล้วหลังจากนั้นจะทำการประเมินว่ารถถังคันใดมีความสามารถในยิงเพื่อต่อต้านเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็จะทำการส่งข้อมูลไปที่รถถังคันดังกล่าวเพื่อให้ทำการยิงทำลายเป้าหมายและหากเป้าหมายยังไม่ถูกทำลาย ระบบก็จะส่งข้อมูลต่อไปยังรถถังอีกคันเพื่อให้ช่วยทำการยิงสนับสนุนต่อในทันที


กล้อง ผบ.รถที่มีระบบอินฟราเรดนั้นจะทำหน้าที่เป็นตาของรถที่สามารถทำการหมุนได้รอบทิศ และมีการแบ่งปันข้อมูลที่ตรวจพบร่วมกับรถถังคันอื่นๆในหมวดรถถังของตนเองด้วยระบบ C4I เพื่อให้ตัวรถถังเองมีความสามารถในการไล่ล่าและทำลายหรือที่เรียกว่า Hunter-Killer ได้อย่างสมบูรณ์แบบ


ระบบป้องกันตนเอง

ระบบป้องกันจากการโจมตีโดยตรงของ Type 10 นั้นก์คือระบบเกราะที่ถูกออกแบบมาให้เป็นแบบ Modular ผนวกกับตัวเกราะที่เป็นวัสดุผสมคอมโพสิต ซึ่งจากรายงานของที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อตอนปี 2006 ได้มีการลงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาระบบเกราะคอมโพสิตเพื่อนำมาติดตั้งใช้งานกับยานเกราะ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเกราะที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างในตอนนั้นเป็นเกราะที่ทางส่วนงานวิจัยของทางโครงการสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อใช้งานกับ Type 10 โดยเฉพาะ โดยจะมีการติดตั้งบริเวณตัวป้อมปืนทั้งป้อมซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการป้องกนที่สูงกว่า Type 90 เป็นอย่างมาก



ด้วยตัวเกราะที่ถูกออกแบบมาอย่างดี การใช้วัสดุผสมคาร์บอกไฟเบอร์ เซรามิกเพื่อใช้ทำตัวเกราะเสริม ทำให้ตัวเกราะเสริมที่มีการพัฒนาขึ้นนั้นมีน้ำหนักเบาอย่างเหลือเชื่อ โดยยังทำให้ถึงแม้ว่ามีการติดเกราะเสริมลงบน Type 10 นั้นก็ยังมีน้ำหนักตัวรถทั้งหมดไม่เกิน 44 ตัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ Type 90 แล้วนั้นหากมีการติดตั้งเกราะเสริมลงไปนั้นจะทำให้ตัวรถมีน้ำหนักที่มาเกินไป และไม่เหมาะสมต่อการวิ่งบนถนนของญี่ปุ่นเอง ซึ่งหากไม่มีการติดตั้งเกราะเสริมนั้น ตัวป้อมของ Type 10 นั้นมีลักษณะคล้ายกับป้อมของ Type 90 เนื่องมาจากใช้การพัฒนาตัวป้อมบนพื้นฐานของ Type 90 แต่มีการมใช้วัสดุแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และยังทำให้มีน้ำหนักเบาลงกว่า Type 90 ถึง 12%



ในส่วนของการป้องกันตัวเองแบบ Passive ของ Type 10 นั้น มีการติดตั้งระบบตรวจจับการล็อคเป้าหมายด้วยเลเซอร์รอบคัน และมีการติดตั้งระเบิดควันเพื่อใช้ป้องกันการโจมตีด้วยอาวุธนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ และนอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบดึงไอเสียไปปล่อยใต้กระโปรงรถเพื่อใช้ลดการโจมตีด้วยอาวุธนำวิถีอีกด้วย


ระบบขับเคลื่อน

Type 10 นั้นมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล V8 แบบทำมุม 90 องศาสระบายความร้อนด้วยน้ำ พร้อมกับระบบเทอร์โบชาร์จ ระบบควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงด้วย ECU หรือ Electronics Control Unit ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด



ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์ดีเซล V8 นั้นจะมีขนาดเล็กและถูกนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงแต่ก็ก็ยังทำให้มีแรงขับมากถึง 1,200 แรงม้า ที่ 2,300 รอบ มีอัตราส่วนของแรงขับต่อน้ำหนักอยู่ที่ 27 แรงม้า/ตัน ซึ่งมีความเทียบเท่ากับรถถังที่ใช้เครื่องยนต์ 1,500 แรงม้าที่น้ำหนัก 55 ตัน นอกจากนี้ด้วยการปรับปรุงโดยใช้ HMT หรือ Hydro Mechanical Transmission นั้นยังมีการอธิบายเพิ่มว่า ด้วยการใช้ระบบส่งกำลังที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้ถึงแม้ว่าจะมีแรงขับต่อน้ำหนักน้อยกว่า Type 90 แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าอยู่ดี และยังเป็นการกลับมาใช้เครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะครั้งแรกนับตั้งแต่มีการใช้งานในรถถังยุคแรกของกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่นอย่าง Type 61

ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนชุดเกียร์ที่ไป มอเตอร์พวงมาลัยนั้นสามารถคุมอัตราทดเกียร์ที่เหมาะสมโดยใช้เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งด้วยประสิทธิภาพของระบบส่งกำลังนี้ทำให้ Type 10 นั้นสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งไปด้านหน้าและถอยหลังได้อย่างไม่มีปัญหา



เมื่อรวมเครื่องยนต์ดีเซล V8 แบบระบายความร้อนด้วยน้ำเข้ากับชุดเกียร์อัตโนมัติจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของชุดจ่ายกำลังให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นแม้จะมีขนาดที่เล็กและมีน้ำหนักเบามากกว่าเครื่องยนต์ของรถถัง แบบอื่นๆ


ระบบเชื่อมโยงข้อมูล

มีการติดตั้งระบบ C4I ซึ่งมีการเชื่อมโยงไปยังระบบควบคุมและสั่งการของกองทหารหลักความสามารถในการสื่อสารกับกองกำลังส่วนกลางและกองกำลังพันธมิตรจะได้รับการปรับปรุงให้มีข้อมูลอัพเดทข้อมูลช่าสุดและในอนาคตจะทให้มีความสามรถในการรับข้อมูลโดยตรงจากเฮลิคอปเตอร์สังเกตการณ์ OH - 1 และเฮลิคอปเตอร์โจมตี AH - 64D เช่นกัน


โดยระบบ C4I นี้ทำให้ Type 10 นั้นได้รับฉายาว่า “คอมพิวเตอร์วิ่งได้”


การจัดหาเข้าประจำการ

ด้วยประสิทธิภาพขั้นสูงทั้งหมดที่กล่าวมานั้นทำให้ราคาของ Type 10 นั้นพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการ โดยมีราคาค่าตัวอยู่ที่ประมาณ 950 ล้านเยนต่อคัน หรือประมาณ 315 ล้านบาทต่อคัน โดยตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปีงบประมาณล่าสุดนั้นอยู่ที่ 93 คันเท่านั้น และยังคงสั่งเข้าประจำการน้อยลงทุกปีด้วยความที่ว่าการจะได้มาซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงใน Type 10 นั้นต้องจ่ายเป็นเงินราคาแพงเช่นกัน



Specification

  • ความยาว : 9.42 เมตร

  • ความกว้าง : 3.24 เมตร

  • ความมสูง : 2.30 เมตร

  • น้ำหนัก (รวมเกราะเสริมแล้ว) : ประมาณ 44 ตัน

  • ความเร็ว : สูงสุด 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งเดินหน้าและถอยหลัง

ระบบอาวุธ

  • ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบขนาด 120 มิลลิเมตร ความยาวลำกล้อง 44 คาลิเบอร์

  • ปืนกลร่วมแกนแบบ Type 74 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร

  • ปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ M2 ขนาด 12.7 มิลลิเมตร

  • เครื่องยนต์ : ดีเซล 4 จังหวะแบบ V8 ให้แรงขับ 1,200 แรงม้าที่ 2,300 รอบ พร้อมระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยอิเล็กทรอนิกส์

  • พลประจำรถ : 3 คน

ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตลอดโครงการ : 48,400 ล้านเยน หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการจัดหาต่อคัน : 950 ล้านเยน หรือประมาณ 315 ล้านบาทต่อคัน



เขียนและเรียบเรียงโดย : ปฏิภาณ นิกูลกาญจน์


ดู 2,647 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

DEFNET Old Cam : Far and B&W

DEFNET Old Cam Far and B&W DEFNET Old Cam วันนี้มาแปลก อาจจะงงว่าทำไม ภาพที่ถ่ายมันเป็นขาวดำ ภาพแตกๆ ดูเหมือนภาพเก่าเลย...

Comments


bottom of page